วันนี้ (5 เมษายน 2567) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากกรณีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประกาศเตือนให้เฝ้าระวังผลกระทบคุณภาพน้ำในแม่น้ำโขง หลังจากที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) แจ้งว่ามีอุบัติเหตุรถบรรทุกสารเคมีพลิกคว่ำ ส่งผลให้มี“กรดซัลฟิวริก” จำนวน 30 ตัน ไหลลงสู่แม่น้ำคาน บริเวณแขวงหลวงพระบาง เมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา และจะไหลลงลุ่มน้ำโขงวันที่ 5 เมษายน ก่อนจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ช่วงวันที่ 8 - 10 เมษายน 2567 พร้อมกับมีการประกาศแจ้งเตือนให้จังหวัดที่ติดลุ่มน้ำโขง ได้แก่ เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ติดตามสถานการณ์คุณภาพน้ำและเฝ้าระวังผลกระทบจากคุณภาพน้ำในแม่น้ำโขง รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนที่สัญจรและประกอบกิจกรรมในบริเวณแม่น้ำโขง การประมงสัตว์น้ำ รวมทั้งผู้ที่อาศัยในพื้นที่บริเวณดังกล่าว
นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ผลกระทบต่อสุขภาพของกรดซัลฟิวริกนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นอันตรายจากสัมผัสกรดที่มีความเข้มข้นสูง มีฤทธิ์กัดกร่อนทำให้เนื้อเยื่อต่างๆ เสียหาย ซึ่งแนวทางแก้ไขปัญหา แม้เบื้องต้นประเทศไทยจะมีการประสาน สปป.ลาว ในการบริหารจัดการน้ำเขื่อนไชยะบุรี เพื่อเจือจางสารเคมีแล้ว ซึ่งคาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพแม่น้ำโขงในประเทศไทย แต่เพื่อความมั่นใจในความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ จึงได้มอบหมายให้กรมอนามัยประสานจัดทีมปฏิบัติการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมรองรับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (ทีม SEhRT) ในพื้นที่ รับผิดชอบประเมินความเสี่ยงการปนเปื้อนของกรดซัลฟิวริกในแม่น้ำโขง เฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพของคนในพื้นที่ รวมถึงเฝ้าระวังน้ำประปาในชุมชนและประปาหมู่บ้านในจังหวัดดังกล่าว พร้อมทั้งสื่อสารให้ความรู้แนวทางการปฏิบัติตัวแก่ประชาชนในพื้นที่ ซึ่งหากสัมผัสแหล่งน้ำแล้วมีอาการระคายเคือง ผิวหนังไหม้ ปวดแสบปวดร้อน เกิดแผลพุพอง หรือตาพร่ามัว ตาแดง น้ำตาไหล ขอให้รีบไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการและทำการรักษาที่เหมาะสมต่อไป