"สุริยะ" รับข้อสั่งการนายกฯ อำนวยความสะดวกการเดินทางของประชาชนช่วงสงกรานต์ 2567 “สะดวก-รวดเร็ว-ปลอดภัย” เผยการเดินทางวันแรก (11 เม.ย. 2567) พบการเดินทางคึกคัก-การจราจรติดขัดน้อยลงจากปีก่อน-อุบัติเหตุลดลง 10% ระบุใช้ระบบขนส่งสาธารณะภายในประเทศ รวม 3.08 ล้านคน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 9.11% ชี้ระบบรางสูงสุด สัดส่วนกว่า 47.56% แนะประชาชนต้องการสอบถามข้อมูล-ร้องเรียน โทรสายด่วนคมนาคม-หน่วยงานฯ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ได้มอบนโยบายให้กระทรวงคมนาคม ดำเนินมาตรการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2567 เพื่อให้เดินทางถึงที่หมายได้อย่างปลอดภัย และลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุ บริการระบบขนส่งสาธารณะเข้าถึงง่าย เพียงพอไม่ล่าช้า ไม่มีผู้โดยสารตกค้าง ไม่โก่งราคา ไม่ทิ้งผู้โดยสาร สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยนั้น
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม ได้สั่งการทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ กำกับดูแลการเดินทางของประชาชนอย่างใกล้ชิด และบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมเน้นย้ำการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน และที่สำคัญ คือ ความปลอดภัยขั้นสูงสุด ในการลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน ส่วนภาพรวมการเดินทาง ณ วันที่ 11 เมษายน 2567 นั้น จากการรายงาน พบว่า มีการจราจรติดขัดน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ และดีกว่าช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา รวมถึงดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนด้วย
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า จากการรายงานของศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยคมนาคมได้สรุปรายงานข้อมูลการเดินทางและอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 ซึ่งข้อมูลวันที่ 11 เมษายน 2567 (สะสม 1 วัน) ประมวลผลข้อมูล ณ วันที่ 12 เมษายน 2567 เวลา 07.30 น. จากระบบการเดินทางและระบบ TRAMS พบว่า ระบบขนส่งสาธารณะทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ สามารถรองรับการเดินทางของประชาชนได้อย่างเพียงพอ สำหรับการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะภายในประเทศ มีจำนวนรวม 3,085,607 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 9.11% เปรียบเทียบกับวันเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ ระบบการขนส่งทางรางมีการใช้บริการสูงสุด คิดเป็นสัดส่วน 47.56% ส่วนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศ ด้านถนน ราง น้ำ และอากาศ มีจำนวนรวม 221,850 คน-เที่ยว ระบบขนส่งสาธารณะภายในประเทศที่มีผู้ใช้สูงสุดในแต่ละภูมิภาค ได้แก่ 1) ภาคกลาง : ทางอากาศ (ขาออก) 44,888 คน-เที่ยว 2) ภาคใต้ : ทางถนน 32,493 คน-เที่ยว 3) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : ทางถนน 39,311 คน-เที่ยว 4) ภาคเหนือ : ทางถนน 23,670 คน-เที่ยว และ 5) ภาคตะวันออก : ทางถนน 17,964 คน-เที่ยว
ขณะที่ การจราจรเข้า - ออก กรุงเทพฯ บนทางหลวงสายหลัก 10 เส้นทาง มีปริมาณ 1,106,695 คัน เพิ่มขึ้น 8.01% เปรียบเทียบกับวันเดียวกันของปีก่อน การเดินทางภายในกรุงเทพฯ บนทางด่วนมีปริมาณ 1,604,483 คัน ลดลง 0.19% ส่วนการตรวจความพร้อมรถโดยสารสาธารณะ ณ จุดตรวจ จุดพักรถ และจุดจอด 221 แห่ง มีการตรวจรถ 12,713 คัน พบบกพร่อง 3 คัน และสั่งเปลี่ยนรถ 3 คัน ตรวจผู้ปฏิบัติงาน จำนวน 12,713 คน ไม่พบแอลกอฮอล์ หรือสิ่งเสพติด สำหรับรถไฟ มีการตรวจความพร้อมผู้ปฏิบัติงาน 54 คน ไม่พบแอลกอฮอล์ หรือสิ่งเสพติด และการตรวจความพร้อมท่าเรือ/แพ 161 แห่ง ตรวจเรือ 793 ลำ ไม่พบข้อบกพร่อง และตรวจผู้ปฏิบัติงาน 1,124 คน ไม่พบแอลกอฮอล์ หรือสิ่งเสพติด
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า สำหรับอุบัติเหตุบนโครงข่ายถนนของกระทรวงคมนาคม รวม 185 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 17 คน บาดเจ็บ 207 คน มูลเหตุสันนิษฐานสูงสุด คือ ขับรถเร็วเกินอัตรากำหนด 122 ครั้ง คิดเป็น 66% ยานพาหนะที่เกิดเหตุสูงสุด คือ รถกระบะบรรทุก 4 ล้อ 98 ครั้ง บริเวณที่เกิดเหตุสูงสุด คือ ทางตรง 129 ครั้ง คิดเป็น 70% จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด คือ ระยอง 3 คน จังหวัดที่เกิดเหตุสูงสุด คือ ชลบุรี 12 ครั้ง โดยสรุปเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนอุบัติเหตุลดลง 10% จำนวนผู้เสียชีวิตลดลง 39% และจำนวนผู้บาดเจ็บลดลง 13% ส่วนโครงข่ายทางรางเกิดอุบัติเหตุ 1 ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 คน ไม่มีผู้เสียชีวิต และ โครงข่ายทางน้ำ และทางอากาศไม่มีรายงานการเกิดอุบัติเหตุ
นอกจากนี้ ในส่วนการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ด้านการอำนวยความสะดวก ประกอบด้วย กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จัดตั้งศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะชั่วคราว ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรับเรื่องร้องเรียนและป้องกันมิให้ผู้โดยสารถูกเอารัดเอาเปรียบจากการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ตลอดจนจัดเจ้าหน้าที่ตรวจความพร้อม ณ สถานประกอบการของผู้ประกอบการขนส่ง เพื่อตรวจความพร้อมของตัวรถและความพร้อมของผู้ขับรถก่อนนำรถออกให้บริการตาม Checklist ณ สถานีขนส่งผู้โดยสาร 123 แห่ง จุดจอด 55 แห่ง จุดตรวจความปลอดภัย (Rest Area) 13 จังหวัด 16 จุด และจุด Checking Point 26 จังหวัด 27 จุด
ด้านกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้คืนผิวจราจรในโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ให้สามารถเดินทางได้สะดวก ติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัย ตรวจสอบความพร้อมไฟฟ้าแสงสว่าง กล้อง CCTV และระบบสื่อสาร รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่พร้อมอำนวยความปลอดภัยในการเดินทางให้กับประชาชน นอกจากนี้ ผู้บริหารกรมทางหลวงชนบท ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์ความปลอดภัย ณ จังหวัดปทุมธานี ส่วนบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) รายงานข้อมูล ณ วันที่ 10 เมษายน 2567 มีประชาชนเดินทางไป - กลับ รวมกว่า 104,727 คน แบ่งเป็นเดินทางกลับภูมิลำเนา (เที่ยวไป) 58,088 คน ใช้รถโดยสาร (รถ บขส. รถร่วม รถตู้) 3,531 เที่ยว ส่วนเที่ยวกลับมีประชาชนเดินทาง 46,639 คน ใช้รถโดยสาร 3,235 เที่ยว
นายสุริยะ กล่าวต่ออีกว่า กรมการขนส่งทางราง (ขร.) คาดการณ์ว่าช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 จะมีประชาชนใช้บริการรถไฟฟ้ารวม 7 วัน ประมาณ 7.43 ล้านคน-เที่ยว เพิ่มขึ้นจากสงกรานต์ 2566 ประมาณ 26.56% ทั้งนี้ ได้จัดเจ้าหน้าที่ประสานงานกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง พร้อมจัดเจ้าหน้าที่สุ่มตรวจและอำนวยความสะดวก การเดินทางของประชาชนโดยเฉพาะที่สถานีรถไฟฟ้าที่เป็นจุดเชื่อมต่อ และสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์จนถึงขบวนรถไฟเที่ยวสุดท้าย เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีผู้โดยสารตกค้าง
ขณะที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จัดเตรียมความพร้อม เพิ่มตู้โดยสารจนเต็มหน่วยลากจูงในขบวนรถประจำทั้ง 214 ขบวนต่อวัน และเพิ่มขบวนรถเสริมพิเศษอีก 16 ขบวน ตลอดจนจัดเตรียมรถโดยสารสำหรับหมุนเวียนเพิ่มเติมอีก 40 คัน สามารถรองรับการเดินทางของผู้โดยสารได้ไม่ต่ำกว่า 100,000 คนต่อวัน ซึ่งมีจำนวนเพียงพอ ไม่เกิดปัญหาผู้โดยสารตกค้างแต่อย่างใด
ด้านกรมเจ้าท่า (จท.) ได้ดำเนินการตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสภาพความปลอดภัยของเรือโดยสาร เรือภัตตาคารและท่าเทียบเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงจัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกและประชาสัมพันธ์ทางน้ำประจำท่าเทียบเรือ พร้อมบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมดูแลรักษาความปลอดภัยทางน้ำ นอกจากนี้ ผู้บริหารกรมเจ้าท่าได้ลงพื้นที่พัทยาตรวจความพร้อมความปลอดภัยทางน้ำ
ในส่วนสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบค่าโดยสารเส้นทางภายในประเทศ ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง ในเส้นทางยอดนิยม เช่น กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ กรุงเทพฯ - ภูเก็ต กรุงเทพฯ - หาดใหญ่ และกรุงเทพฯ - กระบี่ เป็นต้น จากการตรวจสอบไม่พบสายการบินใดขายตั๋วโดยสารเกินเพดานราคาที่กำหนด ขณะเดียวกันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จัดตั้งศูนย์ Operations Command Center เพื่อตรวจติดตาม การบริหารจัดการกระบวนการผู้โดยสารขาเข้าและขาออกไม่ให้เกิดความแออัด ตลอดจนดูแลด้านสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ และดูแลความปลอดภัยภายในท่าอากาศยาน รองรับการเดินทางของผู้โดยสาร โดยวันที่ 11 เมษายน 2567 คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารเดินทางรวม 192,322 คน และมีเที่ยวบินประมาณ 1,003 เที่ยวบิน
อย่างไรก็ตาม ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลด้านการเดินทาง แจ้งเหตุ หรือข้อร้องเรียน ได้ที่
- ศูนย์ปลอดภัยคมนาคม โทร. 1356
- ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ โทร. 1584
- ศูนย์บัญชาการกรมทางหลวง โทร. 1586
- ศูนย์ความปลอดภัยกรมทางหลวงชนบท โทร. 1146
- ศูนย์รัชดา องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ โทร. 1348
- บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร. 1490
- ศูนย์บริการข้อมูลลูกค้าสัมพันธ์การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690
- การทางพิเศษแห่งประเทศไทย โทร. 1543
- สายด่วนกรมเจ้าท่า โทร. 1199
- บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) : AOT Contact Center โทร. 1722
- ศูนย์ประสานงานการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย โทร. 0 2286 0506