ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับเกิดจากการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อทางเดินหายใจส่วนต้นขณะนอนหลับ ส่งผลให้ระดับออกซิเจนในเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆในร่างกายลดลง ทำให้เกิดอาการง่วงนอนมากผิดปกติและอ่อนเพลียในช่วงกลางวัน มีความจำที่แย่ลง เกิดภาวะแทรกซ้อนทางระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมไปถึงเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ได้
วิธีการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ สามารถจำแนกออกเป็นการรักษาโดยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวก การรักษาโดยผ่าตัดทางเดินหายใจส่วนต้น และการใช้อุปกรณ์ทันตกรรม ซึ่งการเลือกวิธีรักษาขึ้นอยู่กับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
1. การรักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวกขณะหายใจเข้า
เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก คืออุปกรณ์ที่ปล่อยลมเข้าท่อผ่านหน้ากากเพื่อไปเปิดทางเดินหายใจส่วนบน ที่แคบให้เปิดกว้างขึ้น ปัจจุบันเป็นการรักษาที่ใช้กันแพร่หลาย และมีประสิทธิภาพสำหรับภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ โดยจากผลการศึกษาพบว่าเครื่องอัดอาการแรงดันบวกสามารถเปิดทางเดินหายใจส่วนต้น ช่วยลดอาการกรนและการหยุดหายใจขณะนอนหลับดีขึ้น ส่งผลทำให้อาการง่วงลดลง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่งผลดีต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด มีความดันโลหิตที่ลดลง และความจำดีขึ้นได้ ในผู้ป่วยที่เริ่มใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวกในช่วงแรก อาจมีผลข้างเคียงได้ เช่น คอแห้ง แน่นจมูก หรือนอนไม่หลับ แต่ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นมักไม่รุนแรง สามารถแก้ไขได้ และมักดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป แนะนำให้รับการติดตามอาการต่อเนื่องที่คลินิกบริการเครื่องอัดอากาศแรงดันบวก
2. การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด
2.1 การผ่าตัดทางเดินหายใจส่วนต้น แบ่งออกเป็น
- แบบใช้ยาชาเฉพาะที่ เช่น การใช้คลื่นไฟฟ้าวิทยุจี้บริเวณโพรงจมูกและช่องคอ การยิงเลเซอร์บริเวณช่องคอ เป็นต้น
- แบบ ใช้ยาดมสลบ เช่น การผ่าตัดต่อมทอนซิลและตกแต่งเพดานอ่อนลิ้นไก่ การผ่าตัดแก้ขากรรไกร เป็นต้น เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพดี ทั้งนี้การเลือกการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดขึ้นอยู่กับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ โดยมักต้องได้รับการประเมินทางเดินหายใจโดยแพทย์เฉพาะทาง
2.2 การผ่าตัดลดน้ำหนัก
มักมีข้อบ่งชี้ในผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วนทุพพลภาพ หรือมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ร่วมกับมีภาวะแทรกซ้อนเช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง
3. การรักษาด้วยอุปกรณ์ทันตกรรม
เป็นการใช้อุปกรณ์ครอบฟันเพื่อเลื่อนขากรรไกรล่างขณะนอนหลับ ช่วยเปิดทางเดินหายใจส่วนต้นให้โล่งโดยเกณฑ์ในการเลือกผู้ป่วยจะขึ้นกับการพิจารณาร่วมกันระหว่างแพทย์และทันตแพทย์
หากท่านมีความสนใจในการตรวจการนอนหลับ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์นิทรรักษ์ศิริราช อาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษาชั้น 11 คณะแพทยศาสตรศิริราชพยาบาล โทร 02-419-7535 และ 02-4140379 หรือจากหน่วยบริการผู้ป่วยนอกที่เกี่ยวข้อง ในปัจจุบันมีวิธีการตรวจการนอนหลับชนิดทำในห้องปฏิบัติการ และทำที่บ้าน
ศูนย์นิทรรักษ์ศิริราช (Siriraj Sleeep Center)
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ข้อมูลจาก คณะแพทย์ศาสนต์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล