ปลอดภัย
ในปัจจุบันจำนวนรถเกียร์อัตโนมัติมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากให้ความสะดวกสบายในการขับขี่รวมทั้งเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้อัตราการสิ้นเปลืองระหว่างรถเกียร์อัตโนมัติกับเกียร์ธรรมดาแทบจะไม่แตกต่างกันเหมือนแต่ก่อน ที่เกียร์อัตโนมัติจะมีการกินน้ำมันเชื้อเพลิงมากกว่าเกียร์ธรรมดา
โดยจะเห็นได้ว่าเกียร์อัตโนมัติจะมีอยู่ในรถทุกรุ่นไม่ว่าจะเป็นรถเก๋งหรือรถกระบะ ซึ่งต่างจากในอดีตที่ส่วนใหญ่จะมีแต่ในรถเก๋งเท่านั้น ก่อนที่เราจะไปเรียนรู้ วิธีขับรถเกียร์ออโต้ เราไปดูกันก่อนว่าเกียร์ออโต้หรือเกียร์อัตโนมัติทำงานยังไงกันบ้างครับ
เกียร์อัตโนมัติถูกสร้างขึ้นเพื่อสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้ขับขี่ โดยไม่ต้องคอยมาเหยียบคลัตช์ เพื่อคอยเปลี่ยนเกียร์เหมือนเกียร์ธรรมดา ระบบควบคุมการทำงานของเกียร์อัตโนมัติ จะใช้เซ็นเซอร์ในตรวจจับสัญญาณต่างๆ เช่น เซ็นเซอร์ตำแหน่งเกียร์/เซ็นเซอร์ความเร็วรถ/เซ็นเซอร์ความเร็วรอบของเครื่องยนต์/เซ็นเซอร์ตำแหน่งเกียร์/ เซ็นเซอร์แรงดันน้ำมันเกียร์/เซ็นเซอร์แพลารับเพลาส่งกำลัง/เซ็นเซอร์ตำแหน่งแป้นคันเร่งและอื่นๆ เพื่อนำมาใช้ในการคำนวณก่อนที่จะส่งสัญญาณไปควบคุมให้ชุดกลไกเฟืองเกียร์ และชุดคลัตช์ของเกียร์ทำงานเปลี่ยนเกียร์ขึ้น ลง โดยอัตโนมัติ ให้เหมาะสมกับความเร็วรอบของเครื่องยนต์และความเร็วรถ ตามสภาวะการทำงานให้มากที่สุด ผู้ขับขี่มีหน้าที่เพียงเลือกตำแหน่งเกียร์เดินหน้าหรือถอยหลัง และมีหน้าที่เพียงเหยียบคันเร่งและคอยเหยียบเบรกเท่านั้น
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักอุปกรณ์ที่ผู้ขับขี่จะต้องใช้ควบคุมรถเกียร์อัตโนมัติกันครับ
1.คันเข้าเกียร์ ทำหน้าที่สำหรับเลื่อนเพื่อเลือกตำแหน่งเกียร์เมื่อต้องการใช้งาน
2.ตำแหน่งเกียร์ จะประกอบไปด้วย
– เกียร์ P (Parking) ใช้สำหรับจอดหรือสตาร์ตเครื่องยนต์
– เกียร์ R (Reverse) เกียร์ถอยหลัง
– N (Neutral) เกียร์ว่าง ใช้เมื่อต้องการจอดรถเพื่อให้สามารถเข็นได้
– D (Drive) หรือD4คือ เกียร์เดินหน้าที่ใช้ในการขับขี่ปกติ โดยเมื่อเปลี่ยนเกียร์มาที่ D แล้ว รถจะเริ่มออกตัว แล่นไปเองอย่างช้าๆ และเมื่อเหยียบคันเร่ง รถจะเริ่มเปลี่ยนเกียร์เองอัตโนมัติ โดยเริ่มจากเกียร์ 1 แล้วไปเกียร์ 2 แล้วไปเกียร์ 3 จนถึงสูงสุดที่เกียร์ 4 ขึ้นอยู่กับความเร็วของรถ , M (Manual) เกียร์เดินหน้าที่มีไว้สำหรับให้ผู้ขับขี่เปลี่ยนเกียร์เอง ให้อารมณ์เหมือนขับรถเกียร์ธรรมดา
– S (Sport) เกียร์ขับเดินหน้า ใช้สำหรับการขับขี่ที่ต้องการอัตราเร่งแซงทันใจ จะทำให้ลากรอบเครื่องยนต์ได้สูงขึ้นเร่งได้ทันใจ
– 2 หรือD2คือ ใช้งานในขณะที่ขับขี่รถยนต์ในเส้นทางที่มีความลาดชัน แต่ไม่สูงมาก และยังสามารถใช้ความเร็วได้พอสมควร
– L (Low) ใช้ในการขับรถขึ้น-ลง เส้นทางที่มีความลาดชันสูง และต้องใช้ความเร็วต่ำในการขับขี่ เมื่อลงเขาด้วยเกียร์ L จะเป็นการใช้เครื่องยนต์ช่วยเบรก หรือ Engine Brake เพื่อลดการเหยียบเบรกบ่อยๆ จนทำให้เบรกร้อนเกินไปจนเบรกไม่อยู่ได้
และในรถเกียร์อัตโนมัติรุ่นใหม่ๆ B (Brake) เป็นเกียร์ที่ใช้เหมือนเกียร์ L ในรถที่มีเกียร์ B ก็จะไม่มีเกียร์ L ซึ่งใช้ทดแทนกัน
3. แป้นเบรก นอกจากใช้ชะลอรถหรือหยุดรถแล้ว ยังใช้เหยียบเพื่อปลดล็อก ให้สามารถเลื่อนคันเกียร์ออกจากตำแหน่งเกียร์ P ไปตำแหน่งเกียร์ R ได้ ซึ่งจะมีชุดกลไกล็อกเอาไว้เพื่อความปลอดภัยไม่ให้เลื่อนคันเกียร์โดยไม่ได้ตั้งใจ . 4.แป้นคันเร่ง ทำหน้าที่ในการส่งสัญญาณตำแหน่งแป้นคันเร่งส่งให้กับทาง ECU เพื่อนำไปเป็นสัญญาณในการควบคุมเกียร์อัตโนมัติเปลี่ยนอัตราทดเกียร์ให้เหมาะสมตามสภาวะการเหยียบแป้นคันเร่ง
วิธีขับรถเกียร์ออโต้ 1 เท้า ที่ถูกวิธี คือ
– เหยียบเบรกทุกครั้งที่ทำการสตาร์ตเครื่องยนต์ใช้เท้าขวาเหยียบเบรกเมื่อต้องการสตาร์ตเครื่องยนต์ ส่วนเท้าซ้ายวางไว้ที่พักเท้าโดยให้ลืมไปเลยว่ามีเท้าซ้าย
– การขับเดินหน้าให้เหยียบเบรกแล้วเข้าเกียร์โดยเลื่อนคันเกียร์จากเกียร์ P ผ่าน R มาที่เกียร์ D,S,M เมื่อต้องการขับเดินหน้าจากนั้นค่อยๆ ปล่อยแป้นเบรก ให้รถเคลื่อนตัวอย่างช้าๆ แล้วใช้เท้าข้างขวาค่อยๆ เหยียบคันเร่งเพื่อเพิ่มความเร็วในการขับรถและหากต้องการชะลอความเร็วหรือหยุดรถก็ให้ยกเท้าขวาออกจากแป้นคันเร่งแล้วใช้เท้าขวาเหยียบเบรก
– ขับถอยหลังใช้เท้าขวาเหยียบเบรกแล้วเลื่อนเกียร์ไปที่ตำแหน่งเกียร์ R ปล่อยแป้นเบรก ให้รถเคลื่อนตัวอย่างช้าๆโดยไม่ต้องเหยียบคันเร่ง
– การจอดรถใช้เท้าขวาเหยียบเบรกและเลื่อนคันเกียร์ไปที่ตำแหน่งเกียร์ P แล้วดึงเบรกมือแล้วปล่อยเบรก
ดังนั้นสรุปได้ว่าการขับรถเกียร์ออโต้ที่ถูกวิธีให้ใช้เท้าขวาเพียงข้างเดียวในการเหยียบเบรกและเหยียบคันเร่งส่วนเท้าซ้ายให้วางเอาไว้ที่พักเท้าเท่านั้น ห้ามนำเท้าซ้ายมาใช้เหยียบเบรกเด็ดขาด เพราะในกรณีฉุกเฉินจะทำให้เกิดความสับสนและเกิดอุบัติเหตุรุนแรงตามมาได้ครับ
ข้อมูลจาก
https://www.kmotors.co.th