ถ้าท่านยังอยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียนหรือวัยทำงาน และอาจมีญาติผู้ใหญ่ที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ หรือได้ยินเรื่องของโรคนี้ แล้วกังวลว่าตนเองจะมีโอกาสสมองเสื่อมเมื่อถึงวัยชราหรือไม่ เรามีคำแนะนำเพื่อลดความเสี่ยงของภาวะนี้มาฝากครับ
1. ขยันออกกำลังกายสม่ำเสมอ ถ้าเป็นไปได้ ควรออกกำลังกายให้หัวใจเต้นเร็วหรือคาร์ดิโออย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ หรือถ้าไม่มีเวลาจริง ๆ ออกกำลังกายน้อยก็ยังดีกว่าไม่ออกกำลังกายเลย
2. ตรวจเช็คความดันเลือดอย่างน้อยปีละครั้ง (แม้จะไม่มีอาการผิดปกติ) สำหรับคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ความดันเลือดตัวบน (systolic blood pressure) ไม่ควรเกิน 130 มม.ปรอท
3. พยายามดูแลตนเองอย่าให้อ้วนหรือน้ำหนักตัวเกิน เพื่อลดความเสี่ยงของโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง และโรคอื่น ๆ ที่จะนำไปสู่สมองเสื่อม
4. หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา เบียร์ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่น ๆ
5. เลิกสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาด ไม่ว่าบุหรี่มวนหรือบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งหลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสอง และมลภาวะในอากาศ โดยเฉพาะการออกนอกบ้านในช่วงเวลาที่มี PM2.5 สูง ๆ
6. อย่าอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีเสียงดังมาก ๆ หมั่นสังเกตการได้ยินของตนเอง ถ้าไม่ค่อยได้ยินเสียงพูดในโทรศัพท์หรือเสียงสนทนาชัดเจน หรือต้องเปิดวิทยุหรือทีวีเสียงดัง ๆ ลองปรึกษาแพทย์ด้านหูคอจมูกให้ตรวจเช็คการได้ยิน อย่ารำคาญหรืออายที่จะใส่เครื่องช่วยฟัง (hearing aid) ถ้าการได้ยินของท่านลดลงมาก
7. อย่าให้ศีรษะได้รับการกระทบเทือน ใส่หมวกกันน็อคเสมอเมื่อขับขี่รถจักรยานยนต์หรือเล่นกีฬาที่มีความเสี่ยง
8. ถ้าท่านยังอยู่ในวัยเรียน พยายามอยู่ในระบบการศึกษาให้นานที่สุด แม้จบการเรียนแล้วก็ควรหมั่นใช้สมอง อ่านหนังสือ ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมให้มาก
9. พยายามพบปะเพื่อนฝูง เข้าสังคม มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นให้มาก ๆ
10. ถ้ารู้สึกว่าตนเองมีอารมณ์เครียด หดหู่ เศร้า ไม่เบิกบาน หรือเบื่อหน่าย ไม่อยากพูดคุยกับใคร ท่านอาจเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งโรคนี้รักษาหายได้ ดังนั้น อย่าอายหรือลังเลที่จะขอความช่วยเหลือจากนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์
ถ้าท่านปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้ได้มากข้อเท่าไร โอกาสที่ท่านจะเป็นโรคสมองเสื่อมเมื่อถึงวัยสูงอายุก็จะยิ่งน้อยลงเท่านั้นครับ
โดย รศ. นพ. รุ่งนิรันดร์ ประดิษฐสุวรรณ
สาขาวิชาอายุรศาสตร์ปัจฉิมวัย ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล