อัมพาต หรือการสูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหวร่างกายข้างหนึ่งอย่างกระทันหัน รวมไปถึงอาการเดินเซ ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด ฯลฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำกิจวัตรประจำวันและคุณภาพชีวิต อัมพาตมักเกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง ไม่ว่าจะเป็นชนิดหลอดเลือดแตก ตีบ หรืออุดตัน โรคหลอดเลือดสมองมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการ แต่โชคดีที่ปัจจัยเสี่ยงส่วนใหญ่สามารถควบคุมได้ด้วยการใส่ใจดูแลสุขภาพของตนเอง
ปัจจัยเสี่ยงของอัมพาต
-
โรคความดันโลหิตสูง ทำให้หลอดเลือดแดงแข็งตัวและแตกหรือตีบตันได้ง่าย เป็นสาเหตุหลักของโรคหลอดเลือดสมอง
-
โรคเบาหวาน ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเรื้อรังทำให้อวัยวะต่างๆ รวมถึงหลอดเลือดแดงเสื่อมสภาพและตีบตัน
-
คอเลสเตอรอลสูง ไขมันในเลือดที่สูงเกินไปจะทำให้หลอดเลือดแดงตีบตันได้ง่าย
-
ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน ส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง
-
การสูบบุหรี่ สารนิโคตินและสารเคมีในบุหรี่ทำลายหลอดเลือดแดง และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดตีบตัน
-
การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มมากเกินไปเพิ่มความดันโลหิต ทำให้หลอดเลือดแดงเสื่อมสภาพ
วิธีป้องกันอัมพาต
-
ออกกำลังกายสม่ำเสมอ: การออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์ ช่วยลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง
-
กินอาหารที่มีประโยชน์ เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืช และหลีกเลี่ยงของหวาน อาหารมันๆ รวมทั้งอาหารแปรรูป
-
ควบคุมน้ำหนักตัว อย่าให้น้ำหนักตัวเกิน
-
ลดความเครียด ความเครียดเรื้อรังส่งผลต่อสุขภาพ ควรหาเวลาพักผ่อนและทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย
-
ตรวจเช็คสุขภาพเป็นประจำ ช่วยให้พบโรคได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น/ยังไม่มีอาการ และหากพบโรค/ปัจจัยเสี่ยงข้างต้น ควรควบคุมดูแลให้ดี
-
ควบคุมความดันโลหิต วัดความดันโลหิตเป็นประจำ ควรกินยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอหากพบว่าเป็นโรค
-
ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด คนที่มีระดับน้ำตาลในเลือดเริ่มสูงหรือเป็นโรคเบาหวานควรควบคุมอาหาร ไม่กินของหวาน พบแพทย์และตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ กินยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ
-
ควบคุมระดับไขมันในเลือด หลีกเลี่ยงอาหารมัน ๆ รวมทั้งของหวาน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และควรกินยาอย่างสม่ำเสมอหากแพทย์สั่งยาให้
-
เลิกสูบบุหรี่ และลดหรืองดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีประโยชน์เสมอไม่ว่าท่านจะอายุเท่าไร
การป้องกันอัมพาต ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่ใส่ใจสุขภาพและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวัน การป้องกันโรคที่ดีที่สุดคือการเริ่มต้นดูแลสุขภาพตั้งแต่วันนี้
สาขาวิชาอายุรศาสตร์ปัจฉิมวัย ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ข้อมูลจาก คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล si.mahidol.ac.th