ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566 สำนักงาน ป.ป.ช. ได้กำหนดให้ “การติดสินบน” เป็นเป้าหมายที่ต้องปราบปรามและป้องกันอย่างจริงจัง เนื่องจากปัญหาการเรียกรับหรือการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐได้แทรกซึมเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตอื่นอีกเป็นจำนวนมาก เช่น การติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อชนะการประมูลงานภาครัฐ การจัดซื้อจัดจ้าง การติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อล็อบบี้ให้งบประมาณลงมายังพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ซึ่งเมื่อได้งบประมาณลงมาแล้วก็มีการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่เพื่อให้ได้งานนั้นหรือที่เรียกว่า “การวิ่งงบ” และ “การซื้องาน” การติดสินบนเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐชะลอหรือละเว้นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้ผู้กระทำความผิดรอดพ้นจากการถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย นี่อาจเป็นภาพชินตาหรือเป็นสิ่งที่หลายคนเรียกว่า “ใคร ๆ เขาก็ทำกัน” คนที่ต้องรับกรรมก็คงเป็นลูกหลานของเราเพราะผลกระทบที่เกิดจากการกระทำดังกล่าวย่อมส่งผลในระยะยาว เช่น
การทุจริตโครงการก่อสร้างถนน ถนนหนทางเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ การเดินทางสัญจรและการดำเนินกิจวัตรประจำวันของประชาชน แล้วท่านเคยเจอถนนที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ถนนไม่ได้คุณภาพชำรุดทรุดโทรมก่อนเวลาอันควรหรือไม่ ท่านเคยตั้งคำถามกับถนนที่ไม่ได้มาตรฐานนี้อย่างไร ? สาเหตุเพราะมีเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนทำตัวเป็นพวกกินเหล็ก กินหิน กินทราย ใช่หรือไม่
การทุจริตจัดซื้อและการบริหารจัดการยาในสถานพยาบาลภาครัฐ เริ่มตั้งแต่กระบวนการจัดทำแผนจัดซื้อไปจนถึงกระบวนการกระจายยาไปยังผู้ใช้ยา เช่น การทุจริตราคากลาง การรับสินบนหรือของกำนัลจากบริษัท/ตัวแทนจำหน่ายยา การลักลอบนำยาออกจากสถานพยาบาล การทุจริตในขั้นตอนการเบิกจ่ายยาโดยมีผู้กระทำการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อและการบริหารจัดการยาที่ได้รับโทษตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่รัฐผู้ปฏิบัติงานจนถึงผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งการทุจริตจัดซื้อและบริหารจัดการยาที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลรัฐบาลไม่เพียงแต่ส่งผลให้เกิดการสูญเสียงบประมาณภาครัฐจำนวนมหาศาล หากแต่ยังส่งผลต่อการให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชน เนื่องจากทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากการซื้อยารักษาโรค การขาดแคลนยา การได้รับการจ่ายยาที่มีคุณภาพไม่ได้มาตรฐานส่งผลต่อสุขภาพระยะยาวและเป็นอันตรายถึงชีวิต
เพียง 2 กรณีที่ยกตัวอย่างมาทำให้เห็นได้ชัดว่า “การติดสินบน” ไม่เพียงแต่จะทำให้หน่วยงานภาครัฐสูญเสียงบประมาณจำนวนมาก แต่อาจกลายเป็นการคร่าชีวิตคนไทยจากบริการสาธารณะที่ไร้คุณภาพเพราะเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนมีการกินสินบาทคาดสินบน!!
สำหรับการแก้ไขปัญหาสินบนอาจจะต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจปัญหาการติดสินบนที่เกิดขึ้นผ่านสายตาของนักธุรกิจและนักลงทุน ไม่ใช่จากมุมมองหรือความคิดของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้แนวทางการแก้ไขปัญหาสอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริงกับภาคธุรกิจ สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปัญหาการติดสินบนในกระบวนการลงทุนในประเทศไทยจากมุมมองของภาคธุรกิจ ซึ่งในเดือนพฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา มีการจัดงานสัมมนาร่วมกับหอการค้าต่างประเทศในประเทศไทย พบว่าปัญหาการติดสินบนส่วนใหญ่เกิดขึ้นในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการอนุมัติ/อนุญาต และสิ่งที่ภาคธุรกิจมีความคาดหวังจากสำนักงาน ป.ป.ช. คือ การบังคับใช้กฎหมายลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่รับสินบนอย่างจริงจัง การรักษาข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแส/ผู้ร้องเรียน และการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส/ร้องเรียนการทุจริต ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ด้านการปราบปรามการทุจริตที่สำนักงาน ป.ป.ช. ได้พัฒนากระบวนการไต่สวนให้มีประสิทธิภาพรวดเร็วมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการบุกจับกุมผู้กระทำความผิดหรือผู้ถูกกล่าวหาตามหลักฐานซึ่งหน้า โดยดำเนินการจับมาแล้วทั้งเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานถึงขั้นอธิบดีกรม
อีกด้านหนึ่ง สำนักงาน ป.ป.ช. ได้มุ่งสร้างเกราะป้องกันการทุจริตโดยสร้างความร่วมมือกับหลายหน่วยงานในทุกภาคส่วนเพื่อแก้ไขและป้องกันปัญหาการติดสินบน ปัจจุบันนี้มีความพยายามสร้างการมีส่วนร่วมและเครือข่ายภาคธุรกิจที่เข้มแข็งในการแก้ไขและป้องกันการติดสินบนในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการลงทุนในประเทศไทย โดยมุ่งเน้นไปที่ขั้นตอนการอนุมัติ/อนุญาต
หากขจัดปัญหาการทุจริตเรียกรับสินบนให้หมดไปได้ ระบบสาธารณูปโภค ระบบบริการภาครัฐในประเทศคงจะดีขึ้นอย่างมาก ทั้งนี้ต้องฝากความหวังให้ทุกคนช่วยกันแก้ไขปัญหา ไม่ให้ ไม่เรียก ไม่รับสินบน ทุกรูปแบบเพื่อลูกหลานของเราไม่ต้องตกเป็นผู้รับกรรมอีกต่อไป