วันนี้ (25 ตุลาคม 2567) เวลา 14.00 น. นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. เปิดเผยว่า วันนี้ (25 ต.ค.) กรมชลประทานได้เพิ่มการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา ที่สถานีจังหวัดชัยนาท อยู่ที่อัตรา 1,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเพิ่มขึ้น โดยพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และแม่น้ำน้อย ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะมีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 30 - 50 เซนติเมตร
"ทั้งนี้เป็นผลมาจากฝนตกหนักในพื้นที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา โดยคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านสถานี C.2 จ.นครสวรรค์ ช่วง 1-7 วันข้างหน้าจะอยู่ที่ 1,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และจะส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเพิ่มขึ้น และหากมีความจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ศปช. จะรีบแจ้งให้ทราบทันที“
เชียงใหม่เร่งจัดการขยะ4หมื่นตันให้เสร็จทันก่อนต้นเดือน พ.ย. ด้าน มท.4 ยัน กฟภ.ไม่เก็บค่าไฟพื้นที่ประกาศภัยฯ ในเดือน ก.ย. ส่วนเดือน ต.ค. ลด30% ตามมติ ครม.
นายจิรายุ กล่าวต่อไปว่า ส่วนการฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยใน จ.เชียงใหม่ นั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดกำลังพลและเครื่องจักรออกปฏิบัติงานทำความสะอาดพร้อมจัดเก็บกระสอบทรายบนถนนสายเศรษฐกิจหลักทั่วเมืองเชียงใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว โดยมีเจ้าหน้าที่และประชาชนจิตอาสา จำนวน 400 คน พร้อมเครื่องมือและเครื่องจักร ร่วมปฏิบัติการฟื้นฟู
“เจ้าหน้าที่และประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ได้ร่วมแรงร่วมใจกัน ทำความสะอาดเมืองเชียงใหม่ ทั้งในถนนสายหลัก ถนนสายรอง และตามตรอกซอกซอยต่างๆ เพื่อคืนผิวการจราจร และเร่งฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด และพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวในวันที่ 1 พ.ย.นี้ ส่วนการบริหารจัดการขยะน้ำท่วมกว่า 42,000 ตัน นั้น ได้จ้างเหมาเอกชนเข้าไปคัดแยก กำจัด โดยบางส่วนได้นำไปเข้าสู่กระบวนการผลิตเชื้อเพลิงขยะมูลฝอย (Refuse Derived Fuel : RDF) และบางส่วนนำไปฝังกลบต่อไป”
ส่วนกรณีที่มีข่าวการเรียกเก็บค่าไฟในพื้นที่ประสบอุทกภัยนั้น นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ประธานศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ส่วนหน้า หรือ ศปช. ส่วนหน้า ยืนยันว่าไม่มีการเรียกเก็บค่าไฟในรอบบิลเดือนกันยายน 2567 จากประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย ส่วนบิลเดือน ตุลาคม 2567 กฟภ.ลดค่าไฟ 30% ตามมติ ครม. เมื่อ 24 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งสามารถสอบถามได้ที่สายด่วน 1129 สำหรับผู้ที่ใช้แอปพลิเคชัน PEA Smart Plus สามารถตรวจสอบค่าไฟของแต่ละเดือนได้ ซึ่งสามารถตรวจสอบค่าไฟย้อนหลังได้ 1 ปี