คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยของผู้ประกอบการธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non – Banks) ภายใต้โครงการคุณสู้ เราช่วย และหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และกระบวนการเบิกจ่ายโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจ Non – Banks ของธนาคารออมสิน ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอดังนี้
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงการหลัง (กค.) เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ ดังนี้
1. มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยของผู้ประกอบธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non - Banks) ภายใต้โครงการคุณสู้ เราช่วย ซึ่งประกอบด้วย (1) มาตรการปรับโครงสร้างหนี้แบบลดภาระดอกเบี้ยโดยการเน้นตัดต้นเงิน โดยลดภาระการผ่อนชำระค่างวดเป็นร้อยละ 70 ของค่างวดก่อนเข้าร่วมมาตรการ และลดอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 10 ทั้งนี้ คาดว่ามีลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติเข้าข่ายการได้รับการช่วยเหลือ จำนวน 1.7 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 50,000 ล้านบาท และ (2) มาตรการลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ที่ถูกจัดชั้นเป็น NPLs ที่มียอดหนี้ไม่สูง (ไม่เกิน 5,000 บาท) โดยภาระให้ลูกหนี้จ่ายชำระหนี้ ร้อยละ 10 ของภาระหนี้คงค้าง เพื่อเป็นการชำระหนี้ปิดบัญชี ทั้งนี้ คาดว่ามีลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติเข้าข่ายการได้รับการช่วยเหลือ จำนวน 31,000 บัญชี คิดเป็นยอดสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 120 ล้านบาท โดย Non - Banks จะใช้วงเงินสินเชื่อที่ได้รับจากโครงการดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) (โครงการ Soft Loan) สำหรับผู้ประกอบธุรกิจ Non - Banks ของธนาคารออมสิน เพื่อบริหารสภาพคล่องของธุรกิจและชดเชยการสูญเสียต้นทุนเงินจากการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ตามมาตรการดังกล่าว
2. หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และกระบวนการเบิกจ่ายโครงการ Soft Loan สำหรับผู้ประกอบธุรกิจ Non - Banks ของธนาคารออมสิน โดยเป็นการปรับปรุงรายละเอียดบางประการให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเพิ่มเติม ซึ่งยังคงอยู่ภายใต้กรอบหลักการโครงการ Soft Loan เดิมที่คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติเห็นชอบไว้ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2567 (ไม่มีการเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินเดิมที่คณะรัฐมนตรีเคยอนุมัติไว้ จำนวน 3,000 ล้านบาท) ซึ่งได้มีการหารือร่วมกันระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กค. และธนาคารออมสินเรียบร้อยแล้ว เช่น (1) วิธีการคำนวณวงเงินสินเชื่อที่ Non – Banks จะได้รับ (เดิมไม่ได้กำหนด) (2) วงเงินสินเชื่อต่อรายสูงสุดไม่เกิน 5,000 ล้านบาท (เดิมไม่ได้กำหนด) (3) ระยะเวลายื่นขอสินเชื่อ จากเดิม ภายใน 30 ธันวาคม 2568 เป็น 30 มิถุนายน 2568 (4) เงื่อนไขอื่น ๆ เพื่อกำกับดูแลการให้สินเชื่อ Soft Loan ของ Non - Banks เช่น ธนาคารออมสินจะติดตามผลการให้ความช่วยเหลือเพื่อทบทวนจำนวนวงเงินกู้เป็นประจำปีละครั้ง โดยธนาคารออมสินสามารถกำหนดเงื่อนไขให้ Non - Banks ชำระหนี้คืน เพื่อลดภาระหนี้คงเหลือให้เท่ากับวงเงินลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการ และกรณีที่ ธปท. ตรวจสอบพบว่า Non - Banks ไม่ได้ให้ช่วยเหลือลูกหนี้มาตรการ Non - Banks จะต้องแจ้งผลการตรวจสอบของ ธปท. ให้ธนาคารออมสินทราบด้วย โดย Non - Banks ต้องชำระคืนเงินกู้ในส่วนที่ไม่ได้ช่วยเหลือลูกหนี้ภายในระยะเวลา 30 วัน เป็นต้น
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวมีลักษณะเดียวกับการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้วก่อนหน้านี้ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2567 (ตามข้อ 2) โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่แตกต่างกันบางประการ สรุปได้ ดังนี้

3. กระทรวงมหาดไทย (มท.) สำนักงบประมาณ (สงป.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและ ธปท. พิจารณาแล้วเห็นชอบ/เห็นชอบในหลักการ/ไม่ขัดข้อง/ไม่ขัดข้องในหลักการ โดย มท. มีความเห็นเพิ่มเติมว่า ขอให้ปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องและปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 อย่างเคร่งครัดและรอบคอบต่อไป ในขณะที่ สศช. เห็นควรให้ กค. กำกับและติดตามการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของผู้ประกอบธุรกิจ Non - Banks ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัดและ สงป. ขอให้ธนาคารออมสินจัดทำเเผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและตามผลการดำเนินงานจริงต่อไป