บทลงโทษมียาบ้าไว้ครอบครอง
อยากถามว่าผมเคยถูกจำคุก 3 ปี มียาบ้าไว้ครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย ตอนนี้ผมออกจากคุกแล้วมา 2 ปี แล้วมาถูกจับอีกในข้อหามีบาบ้าไว้ในครอบครอง 4 เม็ด ประกันตัวออกมาหนึ่งหมื่นบาท ผมยอมรับต่อศาล ผมจะถูกจำคุกหรือปรับครับ
คำแนะนำทนายคลายทุกข์
ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ได้กำหนดให้ยาบ้าจัดเป็นยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรง ประเภท 1 เช่นเดียวกับเฮโรอีน ( Heroin ) ตามมาตรา 7(1) แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว และมาตรา 67 ได้บัญญัติถึงความผิดและกำหนดโทษเอาไว้ว่า " ผู้ใดมีไว้ครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยไม่ได้รับอนุญาต และมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ หรือมีหน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่ถึงปริมาณที่กำหนดตาม มาตรา 15 วรรค 3 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เพราะฉะนั้น หากท่านถูกฟ้องคดีในความผิดดังกล่าวต่อศาลแล้ว ท่านจะให้การเบิกความรับสารภาพต่อชั้นศาล กรณีย่อมเป็นการให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เข้าเหตุบรรเทาโทษที่ศาลจะพิพากษาลงโทษท่านไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแก่ท่านตามความผิดนั้นก็ได้ เมื่อศาลเห็นเป็นการสมควรตาม ป.อ. มาตรา 78
อนึ่ง การที่ศาลจะลงโทษจำคุก หรือปรับแก่ท่านนั้น ย่อมเป็นเรื่องการใช้ดุลพินิจของศาลในการกำหนดโทษที่จะลงแก่ท่านเอง โดยพิจารณาประกอบกับกรณีที่ท่านเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกสำหรับความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งท่านได้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว ภายในเวลา 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษ เพราะฉะนั้น หากศาลจะพิพากษาลงครั้งหลังถึงจำคุก ตามกฎหมายได้กำหนดให้ศาลพิพากษาเพิ่มโทษที่จะลงแก่ท่านอีกกึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดครั้งหลังฐานเป็นผู้กระทำความผิดซ้ำโดยไม่เข็ดหลาบ ตามมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ ฯ ดังกล่าว ( ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกา 2413/2547 )
ตัวบทกฎหมายอ้างอิง
พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522
มาตรา 7 ยาเสพติดให้โทษแบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ
(1) ประเภท 1 ยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรง เช่น เฮโรอีน (Heroin)
มาตรา 15 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เว้นแต่รัฐมนตรีได้อนุญาตเฉพาะในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ
การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
การผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามปริมาณดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
(1) เด็กซ์โตรไลเซอร์ไยด์ หรือ แอล เอส ดี มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ศูนย์จุดเจ็ดห้ามิลลิกรัมขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไปหรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่สามร้อยมิลลิกรัมขึ้นไป
(2) แอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีน มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไป หรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่หนึ่งจุดห้ากรัมขึ้นไป
(3) ยาเสพติดให้โทษในประเภท1 นอกจาก (1) และ (2) มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามกรัมขึ้นไป
มาตรา 67 ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยไม่ได้รับอนุญาตและมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ หรือมีจำนวนหน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่ถึงปริมาณที่กำหนดตามมาตรา 15 วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 97 ผู้ใดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้อีกในระหว่างที่ยังต้องรับโทษอยู่หรือภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษ หากศาลจะพิพากษาลงโทษครั้งหลังถึงจำคุก ให้เพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้นั้นอีกกึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดครั้งหลัง
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 78 เมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ไม่ว่าจะได้มีการเพิ่มหรือการลดโทษตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นแล้วหรือไม่ ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้
เหตุบรรเทาโทษนั้น ได้แก่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้โฉดเขลาเบาปัญญาตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส มีคุณความดีมาแต่ก่อน รู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้น ลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานหรือให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา หรือเหตุอื่นที่ศาลเห็นว่ามีลักษณะทำนองเดียวกัน
ข้อมูลจาก
http://www.decha.com/main/showTopic.php?id=5931