แถลงการณ์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ฉบับที่ 9 สมเด็จพระสังฆราชได้สิ้นพระชนม์ลงแล้ว เมื่อเวลา 19.30 น. สาเหตุเนื่องจากการติดเชื่อในกระแสพระโลหิต...
เมื่อวันที่ 24 ต.ค. แถลงการณ์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เรื่องพระอาการประชวรของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ขณะประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ฉบับที่ 9
วัน นี้คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษารายงานว่าสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระอาการโดยรวมทรุดลง ได้สิ้นพระชนม์ลงแล้ว เมื่อเวลา 19.30 น. ของวันนี้ สาเหตุเนื่องจากการติดเชื่อในกระแสพระโลหิต
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
24 ตุลาคม 2556
พระประวัติ
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระนามเดิมว่า “เจริญ คชวัตร” ประสูติ ณ ต.บ้านเหนือ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี เมื่อวันศุกร์ ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 11 ปีฉลู ซึ่งตรงกับวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2456 บิดาชื่อ น้อย คชวัตร มารดาชื่อ กิมน้อย คชวัตร และมีน้องชายอีก 2 คน คือ นายจำเนียร และนายสมุทร เรียงตามลำดับ โดยสมเด็จฯ ทรงเป็นพี่คนโต
ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงมีพระอัธยาศัยส่อแววของความเป็นพระ เช่น ทรงชอบเล่นเป็นพระ มีสวด มีเทศน์ ทอดผ้าป่า เป็นต้น โดยทรงมีเครื่องของเล่น เช่น ตาลปัตรเล็กๆ คัมภีร์เทศน์เล็กๆ ด้วย ทรงรับการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนประชาบาลวัดเทวสังฆาราม จนสำเร็จชั้นประถม 5 (เทียบเท่าชั้นมัธยม 2) จากนั้นได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดเทวสังฆาราม (วัดเหนือ) ต.บ้านเมือง ในปี พ.ศ. 2469
เมื่อทรงบรรพชาเป็นสามเณรได้ 1 พรรษา พระครูอดุลย์สมณกิจ (พุทธฺโชติ ดี) เจ้าอาวาสวัดเทวสังฆาราม หรือที่เรียกกันว่าหลวงพ่อวัดเหนือ พระอุปัชฌาย์ ได้พามาฝากให้อยู่เรียนพระปริยัติธรรม หรือเรียนภาษาบาลี ที่วัดเสน่หา จ.นครปฐม ในความปกครองของพระครูสังวรวินัย (อาจ) เจ้าอาวาสวัดเสน่หา ก่อนจะทรงย้ายมาศึกษาต่อที่วัดบวรนิเวศวิหาร ในสมัยพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ทรงครองอาราม และทรงสอบได้ประโยคลำดับต่างๆ มาโดยลำดับจนถึง 9 ประโยค
ทรงกลับไปอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดเทวสังฆาราม เมื่อ พ.ศ. 2476 โดยมีพระครูอดุลยสมณกิจ เจ้าอาวาสเป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูนิวิฐสมาจารย์ เจ้าอาวาสวัดศรีอุปลาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ครั้นออกพรรษาแล้ว ทรงกลับมาอุปสมบทเป็นธรรมยุต ณ วัดบวรนิเวศวิหารอีกครั้งหนึ่ง โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ครั้งยังเป็นสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ และพระรัตนธัชมุนี (จู อิสฺสรญาโณ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ประทานนามฉายาว่า “สุวฑฺฒโน”
เจ้าประคุณสมเด็จฯ ทรงเป็นผู้ใฝ่พระทัยในการศึกษา แสวงหาโอกาสที่จะศึกษาวิชาการต่างๆ อยู่เสมอ ราว พ.ศ.2477-2478 ทรงศึกษาภาษาอังกฤษและสันสกฤตกับนักปราชญ์ชาวอินเดีย “สวามีสัตยานันทบุรี” นอกจากนี้ยังทรงศึกษาภาษาจีน ฝรั่งเศส และเยอรมันด้วย ไม่เพียงเท่านั้นยังสนพระทัยในการศึกษาหาความรู้วิชาการสมัยใหม่ในด้านต่างๆ เป็นเหตุให้ทรงรอบรู้ทั้งทางคดีธรรมและคดีโลก มีโลกทัศน์กว้างขวาง ทันต่อความเปลี่ยนแปลง ทั้งในด้านการศาสนา และเหตุบ้านการเมือง
เมื่อทรงสอบได้เปรียญชั้นสูงแล้ว ก็ทรงรับภาระหน้าที่มากขึ้นตามกาล และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์มาโดยลำดับ พระชันษา 34 ปี เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ “พระโสภณคณาภรณ์” พระชันษา 39 ปี เป็นชั้นราช พระชันษา 42 ปี เป็นชั้นเทพ ในราชทินนามเดิม พระชันษา 43 ปี เป็นชั้นธรรมที่ “พระธรรมคุณาภรณ์” พระชันษา 48 ปี เป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองที่ “พระสาสนโสภณ” พระชันษา 59 ปี เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ “สมเด็จพระญาณสังวร”
เมื่อพระชันษา 75 ปี รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น “สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” ในราชทินนามเดิม โดยได้มีพระราชพิธีสถาปนาเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2532 นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
อ่านต่อที่นี้
http://www.thairath.co.th/content/edu/378366
ข้อมูลจาก ไทยรัฐออนไลน์ โดย ไทยรัฐออนไลน์
24 ตุลาคม 2556, 20:46 น.