อาการปวดหลัง ปวดเอว
โรคปวดกล้ามเนื้อหลัง (Musculotendinous strain) เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของอาการปวดหลัง (Back pain)
พบได้ตั้งแต่วัยหนุ่มสาวเป็นต้นไป แต่อาการปวดหลัง ปวดเอว ซึ่งเป็นปัญหากับหลายๆคน
โดยเฉพาะเมื่อย่างเข้าสู่วัยกลางคน ถ้าปวดหลัง ปวดเอวจากกล้ามเนื้อ จะเป็นภาวะที่ไม่อันตรายร้ายแรง
แต่ก่อให้เกิดความเจ็บ ปวด และอาจเป็นอาการปวดหลัง ปวดเอวเรื้อรังได้
โดยอาการปวดจะแสดงในลักษณะต่าง เช่น บางรายอาจปวดเฉพาะบริเวณหลังหรือกระเบนเหน็บ
บางรายอาจปวดหลังและร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้างและมีอาการชาร่วมด้วยจนเดินไม่ได้ก็มี
บางรายอาจมีอาการปวดเอว แล้วก็มีอาการตึงมาทางหน้าท้อง
สาเหตุของอาการปวดหลัง ปวดเอว แบ่งได้เป็น 3 สาเหตุหลัก
1.ปวดหลังจากไตอักเสบ หรืออาจมีนิ่วที่ไต มักจะมีไข้ ปวดเอว ปัสสาวะอาจมีแสบ ขัด ขุ่น
ถ้าเคาะเบาๆ ที่เอวด้านที่ปวดจะเจ็บมากจนสะดุ้ง
2.ปวดหลังจากกระดูกสันหลัง หรือหมอนรองกระดูกสันหลังที่เอวเคลื่อนกดทับเส้นประสาท
มักพบในคนเลยวัยกลางคนแล้ว คนที่ต้องแบกของหนักเสมอ หรือผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุที่บริเวณหลัง
บางรายเท้าจะอ่อนแรง ยกปลายเท้าไม่ขึ้น อาการอาจค่อยเป็นค่อยไป
บางรายก้มยกของหนัก แล้วหมอนรองกระดูกก็เคลื่อนออกมากดทับเส้นประสาท ทำให้ปวดกะทันหันก็มี
3.ปวดหลัง ปวดเอว จากกล้ามเนื้อหลัง มักเกิดจากการทำงานก้มๆ เงยๆ ยกของหนัก นั่ง ยืน นอน
หรือยกของในท่าที่ไม่ถูกต้อง ใส่รองเท้าส้นสูงมากเกินไป นั่งเล่นเกมส์หรือทำงานนานเกินไป หรือนอนที่นอนนุ่มเกินไป
ทำให้เกิดแรงกดตรงกล้ามเนื้อสันหลังส่วนล่าง ซึ่งจะมีอาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อหลัง
จึงเกิดอาการปวดตรงกลางหลังส่วนล่าง คนที่มีน้ำหนักตัวมาก หรือหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ ก็อาจมีอาการปวดหลังได้
และที่สำคัญเมื่ออายุมากขึ้น เส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อหลัง เอว หน้าท้อง จะมีอาการหดเกร็งหรือเกิดอาการตึง เรียกว่า
"กษัยเส้น"
จะทราบได้อย่างไรว่าปวดหลัง ปวดเอว จากสาเหตุใด ให้ทดลองดังนี้
ขั้นแรก ลองให้นอนหงายบนพื้นแข็ง ๆชันเข่าขึ้นบน ท่านี้จะทำให้กล้ามเนื้อหลังคลายตัว
ถ้าอาการดีขึ้น ก็น่าจะปวดหลัง ปวดเอวจากกล้ามเนื้อ
ขั้นต่อมา ลองใช้กำปั้นทุบเบาๆ ที่บั้นเอวข้างที่ปวด ถ้าปวดจนสะดุ้ง ร่วมกับมีไข้ ปัสสาวะแสบ ขัด ขุ่น
ก็มีโอกาสเป็นไตอักเสบ ควรรีบพบแพทย์ทันที
ถ้าทุบแล้วรู้สึกว่าสบาย อาการดีขึ้น ก็น่าจะปวดหลังจากกล้ามเนื้อ
ขั้นสุดท้าย ลองนอนหงาย เหยียดขาทั้ง 2 ข้างออก แล้วให้คนอื่นยกขาข้างที่ปวดเอวขึ้นมาตรงๆ เร็วๆ
โดยที่ขาอีกข้างยังเหยียดราบอยู่ ถ้าเกิดอาการปวดเอวด้านที่ยกขาขึ้น และปวดร้าวแปล๊บไปที่ปลายเท้า
ก็น่าจะเกิดจากหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับเส้นประสาท ควรรีบพบแพทย์ทันที
วิธีแก้อาการปวดหลัง ปวดเอว ที่ปวดจากกล้ามเนื้อหลัง ต้องดูว่าอิริยาบถเป็นอย่างไร
ถ้าอาการปวดหลังเกิดจากการนอน ที่นอนควรใช้แบบแน่นยุบตัวน้อยที่สุด ไม่ควรใช้ฟูก ฟองน้ำหรือเตียงสปริง
เพราะหลังจะจมอยู่ในแอ่น ทำให้กระดูกสันหลังแอ่น จนเกิดอาการปวดหลังได้
ท่านอนที่ผิด คือการนอนคว่ำจะทำให้กระดูกสันหลังแอ่นมากที่สุด โดยเฉพาะระดับเอว ทำให้ปวดหลังได้
การนอนหงายทำให้หลังแอ่นได้เล็กน้อย ทำให้ปวดหลังได้ ควรใช้หมอนข้างใบใหญ่ หนุนใต้โคนขา
จะช่วยให้กระดูกสันหลังแบนราบ และควรมีหมอนรองรับบริเวณคอไว้
การนอนตะแคง เป็นท่านอนที่ดี ควรนอนให้ขาล่างเหยียดตรง ขาบนงอ ตะโพกและเข่ากอดหมอนข้างไว้ หลังให้โก่งเล็กน้อย
การนั่ง ควรนั่งให้ชิดขอบในของเก้าอี้โดยหลังไม่โก่ง เก้าอี้ที่นั่งต้องรองรับก้นและโคนขาได้ทั้งหมด ความสูงพอดีที่เท้าแตะพื้น
การยืน ควรยืนพักขา 1 ข้าง คือ เข่าตึงข้างหนึ่ง หย่อนข้างหนึ่ง จึงจะไม่ทำให้หลังแอ่น
การยกของ อย่าก้มลงยกของ การก้มตัวลงหยิบของในลักษณะเข่าเหยียดตรงเป็นท่าที่ทำให้ปวดหลังได้
เพราะกล้ามเนื้อหลังจะเป็นส่วนที่ออกแรง จึงอาจทำให้เกิดอาการอักเสบได้
ควรย่อเข่าลงนั่งกับพื้น ยกของให้ชิดตัว แล้วลุกด้วยกำลังขา
การนั่งขับรถ บางท่านต้องขับรถเป็นระยะเวลานาน ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้มีอาการปวดหลัง ปวดเอว
ดังนั้นท่านั่งขับรถจะต้องนั่งให้ถูกวิธี และควรมีการพักโดยออกมายืนแล้วบิดขี้เกียจบ้าง เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อหลัง
ถ้ามีอาการปวดหลัง ปวดเอว ในส่วนของกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็น ควรรับประทาน ยากษัยเส้น ตรา เอ
บางท่าน กล้ามเนื้อหลังอาจตึงมาก ทำให้ปวดหลัง ปวดเอว เรื้อรัง ควรนวดโดยท่านที่ชำนาญร่วมด้วย
ส่วนประกอบของหลัง
หลังของเราประกอบไปด้วยกระดูกสันหลังทั้งหมด 24 ชิ้นที่เรียกว่า vertebrae
โดยเรียงซ้อนกันตั้งแต่กระดูกสะโพกถึงกะโหลกศีรษะ ระหว่างกระดูกแต่ละชิ้นจะมีหมอนรองกระดูกขั้นกลาง
เพื่อรับแรงกระแทกของกระดูก และเพิ่มความคล่องตัวในการเคลื่อนไหว
กระดูกสันหลังทำหน้าที่เป็นแกนกลางของร่างกาย กระดูกจะถูกยึดติดเป็นแนวโดยอาศัยกล้ามเนื้อและเอ็น
การหดเกร็งกล้ามเนื้อหลังจะทำให้เกิดการเคลื่อนไหว
หากมีอาการเหล่านี้ร่วมกับอาการปวดหลัง ควรรีบพบแพทย์
ปัสสาวะแสบ ขัด ขุ่น ปัสสาวะลำบาก
มีอาการชาบริเวณหลังหรือบริเวณอวัยวะเพศ
มีอาการชาและอ่อนแรงขาข้างหนึ่ง
มีอาการปวดแปล๊บที่ขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง
เดินเซ
ข้อมูลจาก เรืองไทยเภสัช
http://www.brand-a.com/05tips/backpain.html
รูปภาพจาก การค้นหาใน google