ในการเขียนหรือพิมพ์หนังสือไทย การเว้นช่องว่างระหว่างคำ ข้อความหรือประโยคให้ถูกต้องเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะจะทำให้ข้อเขียนนั้นมีความถูกต้อง แจ่มแจ้ง ชัดเจน และอ่านได้ตรงตามความต้องการของผู้เขียน
วรรค คือ คำ ข้อความ หรือประโยคช่วงหนึ่ง ๆ
การเว้นวรรค หมายถึง การเว้นช่องว่างระหว่างวรรค
การเว้นวรรคแบ่งออกเป็น
– การเว้นวรรคเล็ก มีระยะห่างระหว่างวรรคประมาณเท่ากับความกว้างของพยัญชนะ ก
– การเว้นวรรคใหญ่ มีระยะห่างระหว่างวรรคประมาณ ๒ เท่าของการเว้นวรรคเล็ก
ในการเขียนหรือพิมพ์หนังสือไทย มีหลักเกณฑ์ในการเว้นวรรค ดังนี้
๑. กรณีที่ต้องเว้นวรรค
๑.๑ การเว้นวรรคใหญ่
เว้นวรรคใหญ่เมื่อจบข้อความแต่ละประโยค
ตัวอย่าง
(๑) นั่งให้เรียบร้อย อย่าไขว่ห้าง
(๒) วิทยาการเป็นต้นธารให้บังเกิดความรู้และความสามารถในอันที่จะประกอบกิจตามหน้าที่ได้ดี ความเจริญงอกงามทั้งทางจิตใจและทางวัตถุย่อมเป็นผลสืบเนื่องมาจากวิทยาการ บ้านเมืองจะเจริญหรือเสื่อมก็เนื่องด้วยวิทยาการ
๑.๒ การเว้นวรรคเล็ก
เว้นวรรคเล็ก ในกรณีต่อไปนี้
๑.๒.๑ ในประโยครวมให้เว้นวรรคเล็กระหว่างประโยคย่อยที่มีใจความสมบูรณ์และเชื่อมกับประโยคอื่น ๆ ที่ขึ้นต้นด้วยคำสันธาน “และ” “หรือ” “แต่” ฯลฯ
ตัวอย่าง
(๑) นายแดงอยู่ที่บ้านคุณพ่อของเขาที่ปากน้ำโพ แต่พี่ชายของเขาอยู่ที่บ้านซื้อใหม่ในกรุงเทพฯ
(๒) การเขียนหนังสือโย้หน้าเย้หลังไม่เป็นระเบียบ หรือการขาดความระมัดระวังในเรื่องช่องไฟ อาจเป็นเครื่องหมายส่อนิสัยของผู้เขียนเองได้
(๓) พุทธกับไสย แม้ต่างกันเป็นคนละด้าน แต่ก็ไม่เป็นสิ่งขัดแย้งกันในความเชื่อถือของคนชั้นสามัญทั่วไป
แต่ถ้าเป็นประโยคสั้นให้เขียนติดกัน
ตัวอย่าง
(๑) ฉันและเธอไปโรงเรียน
(๒) เขาอยากได้ดีแต่เขาก็ไม่ได้ดี
(๓) น้ำขึ้นแต่ลมลง
๑.๒.๒ เว้นวรรคเล็กระหว่างชื่อกับนามสกุล
ตัวอย่าง
นายเสริม วินิจฉัยกุล
๑.๒.๓ เว้นวรรคเล็กหลังคำนำพระนามพระบรมวงศานุวงศ์ พระนาม และฐานันดรศักดิ์
ตัวอย่าง
(๑) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
(๒) สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
(๓) สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์
๑.๒.๔ เว้นวรรคเล็กระหว่างชื่อบริษัท ธนาคาร ฯลฯ กับคำ “จำกัด” ที่อยู่ท้ายชื่อ
ตัวอย่าง
(๑) บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มั่นคง จำกัด
(๒) ธนาคารทหารไทย จำกัด
๑.๒.๕ เว้นวรรคเล็กระหว่างคำ “ห้างหุ้นส่วนจำกัด” และ “ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล” กับชื่อ
ตัวอย่าง
(๑) ห้างหุ้นส่วนจำกัด วีวรสิน
(๒) ห้างหุ้นส่วนจำกัดสามัญนิติบุคคล ปัญญากิจ
๑.๒.๖ เว้นวรรคเล็กระหว่างชื่อสถานที่ต่าง ๆ เช่น ถนน ตำบล/แขวง อำเภอ/เขต จังหวัด
ตัวอย่าง
ราชบัณฑิตยสถาน ในพระบรมมหาราชวัง ถนนหน้าพระลาน
แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๐๐
๑.๒.๗ เว้นวรรคเล็กระหว่างคำนำหน้านามแต่ละชนิด
ตัวอย่าง
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ หม่อมหลวงเกษตร สนิทวงศ์ หรือ
ศ. นพ. ม.ล.เกษตร สนิทวงศ์
๑.๒.๘ เว้นวรรคเล็กระหว่างยศกับชื่อ
ตัวอย่าง
(๑) จอมพล ป. พิบูลสงคราม
(๒) พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ หรือ พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่
(๓) ร้อยโทหญิง สุชาดา ทำความดี
๑.๒.๙ เว้นวรรคเล็กระหว่างกลุ่มอักษรย่อ
ตัวอย่าง
นายเสริม วินิจฉัยกุล ป.จ. ม.ป.ช. ม.ว.ม.
๑.๒.๑๐ เว้นวรรคเล็กระหว่างตัวหนังสือกับตัวเลข
ตัวอย่าง
เขาเลี้ยงสุนัขไว้ที่บ้านตั้ง ๓๐ ตัว
๑.๒.๑๑ เว้นวรรคเล็กระหว่างวันกับเวลา
ตัวอย่าง
ราชบัณฑิตยสถานกำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยทุกวันพฤหัสบดี เวลา ๑๐.๐๐ น.
๑.๒.๑๒ เว้นวรรคเล็กหลังข้อความที่เป็นหน่วยมาตราต่าง ๆ กับข้อความที่ตามมา
ตัวอย่าง
โต๊ะประชุมแต่ละตัวมีขนาดกว้าง ๐.๘๐ เมตร ยาว ๑.๖๐ เมตร สูง ๐.๖๐ เมตร
๑.๒.๑๓ เว้นวรรคเล็กระหว่างตัวหนังสือไทยกับตัวหนังสือภาษาอื่น
ตัวอย่าง
ข้าวเย็นเหนือเป็นชื่อไม้เถาชนิด Smilax china L. ในวงศ์ Smilacaceae เหง้าใช้ทำยาได้.
๑.๒.๑๔ เว้นวรรคเล็กระหว่างรายการต่าง ๆ เพื่อแยกรายการแต่ละรายการ ทั้งที่เป็นข้อความและกลุ่มตัวเลข
ตัวอย่าง
(๑) ศีล สมาธิ ปัญญา สามอย่างนี้เรียกว่า ไตรสิกขา
(๒) เลือกข้อความที่ถูกต้องเพียงข้อเดียวจากข้อ ก ข ค ง
(๓) ๑๕ ๑๓ ๑๑ ๙ ๗ ๕ ๓ ๑ ต่างก็เป็นจำนวนเลขคี่
๑.๒.๑๕ เว้นวรรคระหว่างเครื่องหมายต่าง ๆ
๑.๒.๑๕.๑ เว้นวรรคเล็กหน้าและหลังเครื่องหมายไปยาลใหญ่ ไม้ยมก เสมอภาคหรือเท่ากับ ทวิภาค วิภัชภาค และเครื่องหมาย + ที่ใช้ในทางภาษา (มิใช่เครื่องหมาย + ที่ใช้ในทางคณิตศาสตร์)
ตัวอย่าง
(๑) เขาเจริญพุทธคุณว่า อิติปิ โส ฯลฯ ภควาติ
(๒) วันหนึ่ง ๆ เขาทำอะไรบ้าง
(๓) อเปหิ = อป + เอหิ
(๔) กฤษณา : กฤษณาสอนน้อง แบบเรียนกวีนิพนธ์
(๕) ในการจัดสัมมนาครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการสัมมนา ได้แก่ :–
ราชบัณฑิต
ภาคีสมาชิก
ผู้แทนองค์กรที่เกี่ยวข้อง
นักวิชาการ
และประชาชนผู้สนใจ
๑.๒.๑๕.๒ เว้นวรรคเล็กหน้าเครื่องหมายอัญประกาศเปิดและวงเล็บเปิด
ตัวอย่าง
(๑) สถานภาพของสตรีในสังคมอินเดียในอดีตมีลักษณะคล้าย “เถาวัลย์” หรือบางทีก็ดูคล้าย “กาฝาก” เพราะสตรีไม่สามารถพึ่งตนเองได้
(๒) มนุษย์ได้สร้างโลภะ (ความโลภ) โทสะ (ความโกรธ) และโมหะ (ความหลง) ให้แก่ตัวเองทั้งสิ้น
๑.๒.๑๕.๓ เว้นวรรคเล็กหลังเครื่องหมาย จุลภาค อัฒภาค ไปยาลน้อย อัญประกาศปิด และวงเล็บปิด
ตัวอย่าง
(๑) พระพุทธ, พระธรรม, พระสงฆ์ เป็นรัตนะ ๓ ของพุทธศาสนิกชน
(๒) ชีวิตของตนเป็นที่รักยิ่งฉันใด ชีวิตของผู้อื่นก็ปานนั้น; สัตบุรุษเอาตนเข้าไปเทียบดังนี้ จึงกระทำความเมตตากรุณาในสัตว์มีชีวิตทั่วไป
(๓) โอ๊ย ! มาไม่ทันรถอีกแล้ว
(๔) สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
(๕) สถานภาพของสตรีในสังคมอินเดียในอดีตมีลักษณะคล้าย “เถาวัลย์” หรือบางทีก็ดูคล้ายเป็น “กาฝาก” เพราะสตรีไม่สามารถพึ่งตนเองได้
(๖) มนุษย์ได้สร้างโลภะ (ความโลภ) โทสะ (ความโกรธ) และโมหะ (ความหลง) ให้แก่ตนเองทั้งสิ้น
๑.๒.๑๖ เว้นวรรคเล็กหลังข้อความที่เป็นหัวข้อ
ตัวอย่าง
(๑) อุทานวลี อุทานวลีหมายถึงคำอุทานที่มีคำอื่นประกอบท้ายให้เป็นวลียืดยาวออกไป เช่น คุณพระช่วย
(๒) วิเคราะห์กลวิธีดำเนินเรื่อง ในการวิเคราะห์กลวิธีดำเนินเรื่องจำเป็นต้องเข้าใจศิลปะการอ่าน หรือกติกาของนักอ่าน นักอ่านต้องพยายามทำใจเกี่ยวกับสัญนิยมของการแต่งหนังสือ
๑.๒.๑๗ เว้นวรรคเล็กทั้งข้างหน้าและข้างหลังคำ ณ ธ
ตัวอย่าง
(๑) การนำสัตว์ขึ้นหรือลง ณ สถานีใด ให้เป็นดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ประจำท้องที่
(๒) ผลพระคุณ ธ รักษา ปวงประชาเป็นศุขสานต์
๑.๒.๑๘ เว้นวรรคเล็กหน้าและหลังคำว่า “ได้แก่” ที่ตามด้วยรายการ มากกว่า ๑ รายการ
ตัวอย่าง
(๑) เครื่องล่อใจให้ติดอยู่ในโลก ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส
(๒) อาหารที่ช่วยป้องกันและต้านทานโรค ได้แก่ โปรตีน เกลือแร่ และวิตามิน
๑.๒.๑๙ เว้นวรรคเล็กหน้าและหลังคำ “เช่น” (ในความหมายว่า ยกตัวอย่าง)
ตัวอย่าง
ส่วนหนึ่งแห่งสกลจักรวาล เช่น มนุษยโลก เทวโลก พรหมโลก
ยกเว้น “เช่น” ที่มีความหมายว่า “อย่าง, เหมือน” ไม่ต้องเว้นวรรคทั้งหน้าและหลังคำ
ตัวอย่าง
(๑) ดำ ว. มีสีเช่นสีเขม่า, มืด.
(๒) ใจดำเช่นกา
๑.๒.๒๐ เว้นวรรคเล็กหน้าคำสันธาน “และ”, “หรือ” ในรายการ
ตัวอย่าง
(๑) ระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยการผลิต การบรรจุ การเก็บรักษา การสำรวจ การขนย้าย การจำหน่าย และการส่งมอบน้ำตาลทราย
(๒) แล้วกัน (ปาก) ว. ออกเสียงแสดงความไม่พอใจ ตกใจ เสียใจ หรือประหลาดใจ เป็นต้น.
ยกเว้น ถ้ามีเพียง ๒ รายการ ไม่ต้องเว้นวรรค
ตัวอย่าง
(๑) ส่งเสริมสวัสดิการของครูและนักเรียนของโรงเรียน
(๒) เสียงสระทุกเสียงเป็นเสียงก้องหรือเสียงโฆษะ
๑.๒.๒๑ เว้นวรรคเล็กหน้าคำ “เป็นต้น” ที่อยู่หลังรายการ
ตัวอย่าง
(๑) ประเภท น. ส่วนที่แบ่งย่อยออกไปเป็นพวก จำพวก ชนิด หมู่ เหล่า อย่าง แผนก เป็นต้น.
(๒) บ้านเป็นคำไทย เดิมหมายความว่าหมู่บ้าน ปัจจุบันยังมีเค้าให้เห็นอยู่ในชื่อตำบลต่าง ๆ มี บ้านหม้อ บ้านหมี่ บ้านไร่ บ้านนา บ้านบ่อ เป็นต้น
๑.๒.๒๒ เว้นวรรคเล็กหลังคำว่า “ว่า” ในกรณีที่ข้อความต่อมาเป็นประโยค
ตัวอย่าง
จะสังเกตได้ว่า คนถนัดมือซ้ายมีน้อยกว่าคนที่ถนัดมือขวา
๒. กรณีที่ไม่เว้นวรรค
๒.๑ ไม่เว้นวรรคระหว่างคำนำหน้าชื่อกับชื่อ
ตัวอย่าง
(๑) พระมหาสุทธิ สุทฺธิญาโณ
(๒) นายเสริม วินิจฉัยกุล
(๓) นางอินทิรา คานธี
(๔) นางสาววารุณี วงศ์คนไทย
(๕) เด็กชายวรา สิทธิ์รัตน์
(๖) เด็กหญิงสิรินท์ ทองดี
(๗) คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง
(๘) คุณหญิงปิ๋ว มหาโยธา
(๙) ท่านผูหญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร
๒.๒ ไม่เว้นวรรคระหว่างบรรดาศักดิ์ สมณศักดิ์ ฐานันดรศักดิ์ กับนาม หรือราชทินนาม
ตัวอย่าง
(๑) หลวงวิศาลศิลปกรรม
(๒) หม่อมราโชทัย
(๓) สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
(๔) หม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ
(๕) เจ้าจอมมารดาชุม (ในรัชกาลที่ ๔)
๒.๓ ไม่เว้นวรรคระหว่างคำนำหน้าชื่อที่เป็นตำแหน่งหรืออาชีพกับชื่อ
ตัวอย่าง
(๑) ศาสตราจารย์รอง ศยามานนท์
(๒) นายแพทย์ดำรง เพ็ชรพลาย
๒.๔ ไม่เว้นวรรคระหว่างคำหน้าชื่อที่แสดงฐานะของนิติบุคคล หน่วยงาน หรือกลุ่มบุคคลกับชื่อ
ตัวอย่าง
(๑) สมาคมข้าราชการพลเรือนแห่งประเทศไทย
(๒) มูลนิธิสายใจไทย
(๓) สำนักพิมพ์เมืองโบราณ
(๔) โรงพิมพ์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
(๕) โรงเรียนสตรีวิทยา
(๖) บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มหาสมุทร จำกัด
(๗) กรมปศุสัตว์
(๘) กระทรวงศึกษาธิการ
(๙) คณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย
๒.๕ ไม่เว้นวรรคหลังเครื่องหมายไปยาลน้อย ในกรณีที่มีเครื่องหมายอื่นตามมา
ตัวอย่าง
รถไฟเที่ยวจากกรุงเทพฯ-เชียงใหม่
๒.๖ ไม่เว้นวรรคทั้งหน้าและหลังเครื่องหมายยัติภังค์ ยัติภาค
ตัวอย่าง
(๑) -กระเฉง ใช้เข้าคู่กับคำกระฉับ เป็น กระฉับกระเฉง.
(๒) ภาษาตระกูลไทย–จีน
หลักเกณฑ์นี้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ แต่บางครั้งอาจเว้นวรรคหรือไม่เว้นวรรคก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้เขียน
ตัวอย่าง
นอกจากเงิน ยังมีโล่ทุกรางวัล
หรือ
นอกจากเงินยังมีโล่ทุกรางวัล
ที่มา : หนังสือหลักเกณฑ์การใช้เครื่องหมายวรรคตอนและเครื่องหมายอื่น ๆ หลักเกณฑ์การเว้นวรรค หลักเกณฑ์การเขียนคำย่อ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งที่ ๖ หน้า ๕๖-๖๖
ข้อมูลจาก เว็บราชบัณฑิตยสถาน
http://www.royin.go.th/th/profile/index.php?SystemModuleKey=279&SystemMenuID=1&SystemMenuIDS=