ธรรมชาติบำบัด
นพ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล
[email protected] http://www.balavi.com
แป้งข้าว ผลไม้ ก่อไตรกลีเซอไรด์สูง
อันตรายกว่าไก่ตอน หมูสามชั้น
มาร์กาเรต แอลบริงก์ (Margaret Albrink) เป็นแพทย์สาวทำงานกับ จอห์น ปีเตอร์ส (John Peters) ในภาควิชาอายุรกรรม มหาวิทยาลัยเยล ปีเตอร์สใช้เครื่องมือตรวจวัดสารเคมีในเลือดเพื่อดูปริมาณไตรกลีเซอไรด์ที่ส่งมาจากโรงพยาบาลนิวฮาเวน โรงพยาบาลในสังกัดของมหาวิทยาลัยเยล
ปีเตอร์สเสนอแนะให้แอลบริงก์ศึกษาความสัมพันธ์ของระดับไตรกลีเซอไรด์กับอัตราการเกิดโรคหัวใจ "เพราะปีเตอร์สเป็นคนคิดนอกกรอบ เขาไม่เชื่อทฤษฎีคอเลสเตอรอล" แอลบริงก์กล่าว ซึ่งรวมทั้งเอเวอลิน แมน (Evelyn Man) เพื่อนร่วมงานของแอลบริงก์อีกคนหนึ่ง
แอลบริงก์ยังได้ทำงานร่วมกับ วิสเตอร์ เมกส์ (Wister Meigs) ศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยเยลซึ่งทำงานด้านเวชศาสตร์ป้องกัน และเป็นแพทย์ประจำบริษัทอเมริกันผู้ผลิตเหล็กกล้าและเส้นลวด
ทั้งสามคนทำงานวิจัยร่วมกันและได้ปรากฏผลงานวิจัยในปี ค.ศ.1960 โดยศึกษาเปรียบเทียบระดับไตรกลีเซอไรด์กับคอเลสเตอรอลในผู้ป่วยโรคหัวใจหลอดเลือดของ รพ.นิวฮาเวน เปรียบเทียบกับคนงานที่สุขภาพดีของบริษัทเหล็กกล้า
แล้วก็พบว่า ในผู้ป่วยโรคหัวใจหลอดเลือดจะมีไตรกลีเซอไรด์สูงมากซะยิ่งกว่าการมีคอเลสเตอรอลสูง
กล่าวคือ ในคนสุขภาพปกติวัยหนุ่มมีระดับไตรกลีเซอไรด์สูงเพียง 5% ของประชากร เปรียบเทียบกับคนสุขภาพปกติวัยกลางจะมีระดับไตรกลีเซอไรด์สูง 38% ของประชากร
แต่ในผู้ป่วยโรคหัวใจหลอดเลือดจะมีไตรกลีเซอไรด์สูงถึง 82% ของจำนวนผู้ป่วย
พฤษภาคม 1961 ไม่กี่เดือนหลังจากที่สมาคมโรคหัวใจอเมริกันยกย่องชมเชยสมมติฐานของคีย์ส (เกี่ยวกับผลร้ายของคอเลสเตอรอลและกรดไขมันอิ่มตัวที่มีต่อโรคหัวใจ) อาห์เรนและแอลบริงก์ก็เสนอผลงานของพวกเขาในงานประชุมวิชาการสมาคมแพทย์อเมริกันที่แอตแลนตา
ทั้งสองคนรายงานว่าการเพิ่มของระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดเป็นตัวเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ
ขณะเดียวกันอาหารไขมันต่ำ คาร์โบไฮเดรตสูงเป็นตัวการของการเพิ่มระดับไตรกลีเซอไรด์
รายงานนี้มีน้ำหนักมากขนาดนิตยสารนิวยอร์กไทม์ (New York Times) ขึ้นปกหน้าหนึ่ง ระบุว่า "สถาบันร็อกกีเฟลเลอร์ท้าทายความเชื่อเดิมๆ ที่ว่า ไขมันเป็นปัจจัยก่อโรค"
เนื้อหาในเล่มยังได้แสดงข้อมูลของอาห์เรนที่พิสูจน์ว่า "คาร์โบไฮเดรตต่างหาก ไม่ใช่ไขมัน ที่เป็นสารพึงเฝ้าระวังถ้าจะป้องกันอันตรายจากโรคหัวใจหลอดเลือด"
ไทม์ยังได้รายงานว่า "การค้นพบดังกล่าวนี้ได้ก่อให้เกิดความรู้สึกผิดคาดในหมู่แพทย์และนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากมายที่ร่วมอยู่ในการประชุมครั้งนั้น"
แอลบริงก์เปิดเผยบรรยากาศในที่ประชุมหลังการเสนอผลงานของเธอว่า "มันราวกับว่างานวิจัยของเราไปทำให้หลังคาบ้านถล่มทลายลงมา ผู้ฟังพากันโกรธเกรี้ยว พวกเขาบอกว่าไม่เชื่อหรอก"
ความไม่เชื่อนี้ยังคงดำรงอยู่อีกตลอด 10 ปี หลังจากนั้น ซึ่งแอลบริงก์ก็ยังคงวิจัยต่อไปและเสนองานวิจัยในการประชุมวิชาการอีกหลายครั้ง
แน่นอนว่าเธอต้องได้รับการโจมตีจากกลุ่มความคิดเก่าตามสมมติฐานของคียส์ตลอดมา กว่าที่วงการวิทยาศาสตร์จะตระหนักความจริงของอันตรายจากไตรกลีเซอไรด์ในภายหลัง
ปีค.ศ.1970 แนวคิดของแอลบริงก์ได้รับการยืนยันจากนักวิจัยที่โดดเด่นอีก 3 คน ต่างกรรมต่างวาระกัน
หนึ่งคือ ปีเตอร์ คูโอ (Peter Kuo) มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย
สองคือ ลาร์ส คาร์ลสัน สถาบันคาโรลินสกี สตอกโฮล์ม
และนักวิจัยซึ่งได้รับรางวัลโนเบลในภายหลัง โจเซฟ โกลด์สไตน์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน
ทั้งสามคนล้วนรายงานว่าภาวะไตรกลีเซอไรด์สูงพบในผู้ป่วยโรคหัวใจบ่อยเสียยิ่งกว่าภาวะคอเลสเตอรอลสูง
คูโอรายงานในวารสารสมาคมแพทย์อเมริกัน (Journal of the American Medical Association) ว่าการศึกษาในผู้ป่วยโรคเส้นเลือดแข็งตัว 286 คน ในจำนวนนั้นมี 246 คน ที่ได้รับการส่งตัวมาจากแพทย์ท่านอื่นโดยเข้าใจว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นภาวะคอเลสเตอรอลสูงจากพันธุกรรม
ผลวิจัยปรากฏว่าเป็นปัจจัยจากพันธุกรรมจริงเพียง 10% ที่เหลืออีก 90% นั้นเป็นภาวะไขมันเลือดสูงที่มีสาเหตุจากคาร์โบไฮเดรต (carbohydrate-induced lipemia)
บุคคลเหล่านี้ร่างกายตอบสนองต่อการกินคาร์โบไฮเดรตแล้วทำให้ทั้งไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอลสูงขึ้น
เมื่อคูโอจัดการให้ผู้ป่วยเหล่านี้กินอาหารที่ไม่มีน้ำตาล มีแคลอรีจากคาร์โบไฮเดรตเพียง 500-600 แคลอรี/วัน ก็ปรากฏว่าทั้งไตรกลีเซอไรด์รวมทั้งคอเลสเตอรอลก็ลดลงอย่างชัดเจน
สองเดือนต่อจากนั้นวารสารสมาคมแพทย์อเมริกัน (JAMA) ก็ตีพิมพ์บทบรรณาธิการสนองตอบชิ้นงานของคูโอว่า "นักวิชาการส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดผู้มีแต่ความคิดต่อต้านคอเลสเตอรอลจากอดีตถึงปัจจุบัน ล้วนได้ให้บริการที่ผิดพลาดไปแล้วจากทฤษฎีชี้นำที่ผิดพลาดของตน ยังโชคดีที่ว่าใน 2-3 ปีที่ผ่านมามีงานวิจัยซึ่งส่งผลดีทำให้เราสามารถแยกแยะหลักพื้นฐานเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของไตรกลีเซอไรด์กับกระบวนการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตที่ส่งผลต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัว"
อย่างไรก็ตาม แม้วารสารสมาคมแพทย์อเมริกันจะได้ให้ข้อสรุปซึ่งเปรียบเสมือนรุ่งอรุณแห่งความเข้าใจให้ถูกต้องในเรื่องความสัมพันธ์ของไตรกลีเซอไรด์ คอเลสเตอรอลกับโรคหัวใจหลอดเลือด กับเรื่องอันตรายของคาร์โบไฮเดรตหรือไขมันอิ่มตัวกันแน่ที่ก่อโรค
แต่กลุ่มแพทย์และนักวิชาการในสำนักความคิดเดิมก็ยังคงเดินหน้าในความเชื่อของตนต่อไป
และเนื่องจากว่าสมัยนั้นเครื่องมือที่จะใช้ตรวจระดับไตรกลีเซอไรด์ยังมีน้อย ผลก็คืองานวิจัยจากสถาบันใหญ่ 3 องค์กรอันได้แก่สถาบันฟรามิงแฮม, ห้องวิจัยของคีย์ส และห้องวิจัยอาหารและโรคหัวใจแห่งชาติ ซึ่งล้วนมีความเชื่อในทฤษฎีเก่า พวกเขาเหล่านั้นจึงศึกษาแต่ระดับของคอเลสเตอรอล
และแม้ว่าจะสามารถศึกษาให้ละเอียดต่อไปถึงระดับไตรกลีเซอไรด์ได้ แต่พวกเขาก็ไม่ทำ
ผลก็คืองานวิจัยของ 3 องค์กรเหล่านี้ที่ป้อนให้แก่สถาบันสุขภาพแห่งชาติหรือกระทรวงสาธารณสุขอเมริกา จึงเป็นงานยืนยันเรื่องระดับคอเลสเตอรอลเท่านั้น
เราจึงพบว่าความคิดชี้นำเรื่องอันตรายของคอเลสเตอรอลยังคงเป็นความคิดกระแสหลัก ตราบเท่าทุกวันนี้
ประสบการณ์ตรงในประเทศไทย
คุณเฉลียว (นามสมมติ) เป็นแม่คุณเฉลิมผู้อ่อนน้อม รายที่ทั้งอ้วนทั้งเบาหวานและไขมันสูงนั่นแหละ แท้ที่จริงแล้วคุณเฉลียวเป็นต้นตอของปัญหาสุขภาพลูก ด้วยความเข้าใจผิดว่า กินไก่ตอนหมูสามชั้นอันตรายจากไขมันอิ่มตัวจะทำให้ลูกอ้วน เธอจึงห้ามเขา
แต่ปล่อยให้กินข้าว ขนม ผลไม้อย่างอุตลุด
ไม่ใช่แต่ลูกเท่านั้น ตัวคุณเฉลียวเองก็ปฏิบัติเช่นนั้นเป็นตัวอย่าง
ผลก็คือ คุณเฉลียวจึงป่วยเป็นโรคอ้วน เบาหวาน และไขมันสูงเป็นแบบอย่างเช่นเดียวกัน
เธอป่วยด้วยโรค
1) อ้วน แบกน้ำหนักตัวร้อยกว่า ก.ก.
2) เบาหวาน กินยา 2 ชนิดควบวันละ 6-7 เม็ด
3) ไขมันเลือดสูง ถูกสั่งให้กินยา
4) ไขมันพอกตับ จากผลข้างเคียงของยาลดไขมัน
5) ความดันเลือดสูง กินยา
เธอรักลูกมากกว่าตัวเอง แม้ว่าตัวเองต้องเฝ้าร้านค้าซึ่งขายดีอุตลุดจนละจากมาไม่ได้ แต่ด้วยความสงสารลูกที่ป่วยด้วยโรคเดียวกัน จึงนำพาลูกหันหาธรรมชาติบำบัดสูตรล้างพิษตับอ่อน
ด้วยเวลา 10 วัน ทำตัวให้หยิ่งยโสกับแป้งข้าว ผลไม้ และของหวาน แต่แสดงความรักกับหมู ไก่ ไข่ ปลา และอาหารไขมันอย่างไม่ยำเกรง แต่ก็บังคับตัวเองให้กินผักราวกับชาติที่แล้วเกิดเป็นกระต่าย แถมด้วยไก่ตุ๋นยาจีนบำรุงตับอ่อน
ระหว่าง 10 วัน ยาเบาหวานถูกลดทอนอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนวันสุดท้ายไม่ต้องกินยาเลย
ส่วนยาลดไขมันทิ้งลงถังขยะไปตั้งแต่วันแรก
เสร็จแล้วผลของกุศลกรรมก็ปรากฏให้เห็นชัด เมื่อพบว่า
น้ำตาลเลือด น้ำตาลสะสม Chol Trig HDL LDL น้ำหนักตัว
ม.ก.% % ม.ก.% ม.ก.% ม.ก.% ม.ก.% ก.ก.
ก่อน 138 7.3 272 130 66 180 111.8
หลัง 129 6.1 223 88 49 156 107.7
ด้วยประสบการณ์ตรงเช่นนี้เอง ผมจึงบอกกับแฟนๆ ผู้อ่านว่า ถ้าคุณชื่นชอบหนังไก่ก็กินไปโดยไม่ต้องเลาะทิ้ง หมูสามชั้นกินครบทุกชั้นอย่างเอร็ดอร่อย ขอแต่ให้เพิ่มผัก งดข้าวงดผลไม้ แล้วคุณจะหุ่นดี มีความสุข
( ที่มา:มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 25-31 ตุลาคม 2556)
ร่วมคลิกไลค์แฟนเพจมติชนสุดสัปดาห์ผ่านทางเฟซบุ๊กได้ที่
www.facebook.com/matichonweekly
ข้อมูลจาก มติชนออนไลน์
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1383294165&grpid=&catid=09&subcatid=0902 วันที่ 01 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 เวลา 16:35:21 น.