กล้วยทอด หรือกล้วยแขก ประวัติและที่มาของกล้วยแขกทอด ไม่ทราบแน่ชัด แต่กล้วยแขกน่าจะเป็นอาหารที่มาจากวัฒนธรรมการปรุงอาหารของชาวอินเดีย ซึ่งจะใช้การทอด เหมือนกับถั่วทอด ซึ่งแตกต่างกับวัฒนธรรมการปรุงอาหารของไทย ซึ่งใช้ต้ม ปิ้ง ย่าง เป็นหลัก เช่น กล้วยบวชชี กล้วยต้มมะพร้าวขูดโรยน้ำตาล กล้วยปิ้ง ขนมกล้วยที่ต้องห่อใบตองย่าง บ้างก็ว่าเป็นขนมที่ชาวโปตุเกตุนำเข้ามาประเทศไทย เลยยังเป็นข้อถกเถียงกันเรื่อยมา ยังหาข้อพิสูจน์ไม่ได้
กล้วยทอดของชาวมลายูแถบเกาะปีนัง มาเลย์เซีย อินโดนีเซียและสิงคโปร์ มีชื่อว่า "ปีซัง โกเร็ง" (Pisang Goreng) หน้าตาเหมือนกล้วยทอดเป๊ะ! คนมลายูใช้ทานเป็นอาหารว่างในยามเช้าและบ่าย กล้วยที่ใช้ทอดมักจะนิยมนำกล้วยนางพญา หรือที่คนมลายูเรียกว่า ปีซัง รายา (Pisang raja) แต่บางครั้งก็ใช้กล้วยน้ำว้า กล้วยหนึ่งลูก มักนำไปชุบแป้งทอดทั้งลูก ทอดครั้งหนึ่งแล้วตักขึ้นชุบแป้งให้ชุ่มแล้วนำไปทอดลงในกะทะอีกครั้ง ปีซัง โกเร็ง จึงเหมือนกล้วยทอดไปโดยปริยาย..
กล้วยเป็นพืชที่ขึ้นในแถบร้อนชื้น โดยเฉพาะแถบอุษาคเนย์ อินเดียและจีนตอนใต้ เป็นพืชท้องถิ่นที่อยู่คู่กับภูมิภาคนี้มาอย่างยาวนาน ไม่ใช่พืชนำเข้าจากแถบแคริบเบียน เหมือนมะละกอ พริก หรือมันเทศ ฯลฯ จากฝีมือนักล่าอาณานิคมชาวโปรตุเกส
คนมลายูเรียกกล้วยว่า "ปีซัง" เดิมทีชาวมลายูทานกล้วยเมื่อกล้วยสุก คือทานทั้งผล หาได้ประยุกต์ปรุงแต่งแต่อย่างใด ในปีค.ศ.1511 ชาวโปรตุเกสนำกล้วยมาชุบแป้งทอด เพื่อเป็นอาหารเช้า จึงเป็นที่มาของกล้วยทอด "ปีซัง โกเร็ง" ในปัจจุบัน
แต่ตอนนี้เรามีวิธีการทำกล้วยแขกหรือกล้วยทอดมาฝากกันค่ะ
ส่วนผสมการทำกล้วยทอด
แป้งข้าวเจ้า 1 กก. ต่อกล้วย 10 หวี
แป้งหมี่ 0.5 กก.
แป้งมัน 0.5 กก.
มะพร้าวขูด 1 กก.
น้ำตาลทราย 1 กก.
เกลือ 2 ถุงเล็ก
น้ำปูนใส 1 ถ้วยตวง
งาขาว (โรยลงส่วนผสมทั้งหมด ก่อนนำกล้วยลงทอด)
วิธีการทำ
1.เทแป้งและส่วนผสมทุกอย่างเข้าด้วยกัน แล้วเติมน้ำเปล่า
อย่าให้แข็งหรือเหลวเกินไปเพื่อเวลาเอากล้วยชุบลงทอด แป้งจะติดกล้วยออกมาสวย
2.ใส่น้ำมันพืชเกือบเต็มกระทะ พอน้ำมันร้อน
ก็เอากล้วยที่ปอกเปลือกแล้ว ( 1 ลูก ฝานได้ 4 ชิ้น) ชุบแป้งลงทอด ใช้ทัพพีคน
เพื่อไม่ให้กล้วยติดกัน ทอดจนเหลืองสุกดี ใช้ตะแกรงตักขึ้นให้สะเด็ดน้ำมัน
เคล็ดลับความอร่อย
1.ควรเลือกกล้วยที่ไม่สุกเกินไป
2.น้ำมันทอดกล้วยต้องร้อนจัด เปิดไฟแรงในช่วงเริ่มต้น
เมื่อเริ่มใส่กล้วยลงไป ให้หรี่เป็นไฟกลาง พอกล้วยเต็มกระทะ ปรับไฟให้แรงขึ้น
ใช้ไม้ยาวเขี่ยแยกกล้วยไม่ให้ติดกัน หลังจากกล้วยสุกเสมอกันดีแล้ว ตักขึ้น
3.นอกจากกล้วย ยังมีเผือกและมัน นำมาหั่นทอดขายได้เช่นกัน
เทคนิคอื่นๆที่พึงใส่ใจ
1.กระทะ ถาดใส่กล้วย กะละมัง ควรหมั่นดูแลให้สะอาดอยู่เสมอ
อย่าให้ขะมุกขะมอม เพราะไม่น่ากิน และดูสกปรก
2.อย่าใช้ถุงกระดาษหนังสือพิมพ์ เพราะหมึกพิมพ์เป็นอันตรายต่อร่างกาย
ในจุดนี้ลูกค้าก็ระวังตัวเองอยู่แล้ว ผู้ขายควรใช้กระดาษห่ออาหาร แล้วใส่ถุงพลาสติกอีกชั้นหนึ่ง
3.ในช่วงเริ่มต้น ผู้ขายอาจนำแนวทางของคนอื่นมาประยุกต์ใช้
แต่ผู้ขายควรพยายาม พัฒนาดัดแปลงให้มีจุดเด่น เพื่อเป็นเอกลักษณ์ของร้าน
นอกจากนี้ ผู้ขายยังต้องสนใจรับฟังคำติชม เพื่อนำมาปรับปรุงต่อไป
บทความจาก
http://sukunya112.blogspot.com/