สถานการณ์ทั่วไป
เงาะเป็นไม้ผลเพื่อบริโภคผลสดและเป็นวัตถุดิบที่สำคัญของอุตสาหกรรมเกษตร เงาะกระป๋องและเงาะสอดไส้สับปะรดบรรจุกระป๋องเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ ที่ผ่านมาถึงแม้ว่าจะเกิดปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำเกือบทุกปี (เนื่องจากช่วงฤดูกาลผลิตเงาะค่อนข้างสั้น ในช่วงเวลากลางฤดูจะมีผลผลิตมากกว่า 50 % ออกสู่ตลาดพร้อมๆ กัน) แต่เงาะก็ยังจัดเป็นไม้ผลที่ทำรายได้ดีอีกพืชหนึ่ง
ลักษณะทางพฤกษาศาสตร์
เงาะมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Naphelium lappaceum L. อยู่ในตระกูล Sapindacea เงาะมีระบบรากแก้ว มีรากแขนงมากมายรากส่วนมากจะอยู่ตามผิวดิน
ลำต้น มีเปลือกบางเรียบ สีน้ำตาลแกมเขียว มีทรงพุ่มหนาทึบ
ใบ เป็นใบประกอบ ใบจะออกจากกิ่งแบบเรียงใบสลับ มีใบย่อย 2 – 4 คู่ ผิวใบด้านบนเป็นมันมีสีเขียวเข้มด้านล่างมีสีซีดไม่เป็นมัน ใบอ่อนจะมีสีน้ำตาลแกมแดง
ดอก ออกเป็นช่อ ออกได้ทั้งที่ปลายยอดและตาข้างโดยมากเป็นดอกสมบูรณ์เพศที่ทำหน้าที่เป็นดอกตัวเมีย เนื่องจากเกสรตัวผู้อ่อนแอ และมีต้นตัวผู้ให้ดอกตัวผู้แยกต้นกัน ดอกเงาะจะไม่มีกลีบดอกมีเฉพาะกลีบเลี้ยง 4 – 6 กลีบ สีครีม โดยดอกจะเริ่มบานเวลาเช้า
ผล เงาะมีรูปร่างค่อนข้างกลมหรือรูปไข่ เปลือกของผลอ่อนนุ่ม เจริญยื่นยาวออกมาเป็นขน
เมล็ด มีรูปร่างค่อนข้างแบนยาวประมาณ 1 นิ้ว สามารถเผารับประทานได้หรือใส่ในช็อกโกแลต
ลักษณะทั่วไปของพืช
เงาะเป็นไม้ผลยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ชอบอากาศร้อนชื้น อุณหภูมิที่เหมาะสม อยู่ในช่วง 25 – 30 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์สูงประมาณ 75 – 85 % ดินปลูกที่เหมาะสมควรมีค่าความเป็นกรดเป็นด่าง (ค่า pH) ของดินประมาณ 5.5 – 6.5 และที่สำคัญควรเลือกแหล่งปลูกที่มีน้ำเพียงพอตลอดปี เงาะเป็นไม้ผลที่มีระบบรากหาอาหารลึกประมาณ 60 – 90 เซนติเมตรจากผิวดินจึงต้องการสภาพแล้งก่อนออกดอกติดต่อกัน ประมาณ 21 – 30 วัน เมื่อต้นเงาะผ่านสภาพแล้งและมีการจัดการน้ำอย่างเหมาะสมเงาะจะออกดอก ช่วงพัฒนาการของดอก (ผลิตดอก – ดอกแรกเริ่มบาน) ประมาณ 10 – 12 วัน ดอกเงาะจะทยอยบานจากโคนช่อไปหาปลายช่อ ใช้เวลาประมาณ 25 – 30 วัน จึงจะบานหมดช่อ ดอกเงาะมี 2 ชนิด
คือ ดอกตัวผู้และดอกสมบูรณ์เพศ ต้นที่มีดอกตัวผู้จะไม่ติดผล ส่วนต้นที่มีดอกสมบูรณ์เพศนั้นเกสรตัวผู้ไม่ค่อยแข็งแรง ต้องปลูกต้นตัวผู้แซมในสวนเพื่อเพิ่มละอองเกสรหรือฉีดพ่นฮอร์โมนพืชเพื่อช่วยให้เกสรตัวผู้แข็งแรงขึ้น
พันธุ์เงาะ
เงาะที่ปลูกในประเทศไทยมีอยู่มากมายหลายพันธุ์ด้วยกัน แต่ที่นิยมบริโภคกันมากและเป็นที่ต้องการของตลาดในปัจจุบันมีอยู่ 2 พันธุ์คือ เงาะพันธุ์โรงเรียนและพันธุ์สีชมพู เงาะทั้ง 2 พันธุ์นี้ต่างก็มีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน
1. พันธุ์โรงเรียนหรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าเงาะนาสาร เพราะถิ่นกำเนิดอยู่ในอำเภอนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นเงาะที่มีคุณภาพดี เป็นที่นิยมของผู้บริโภคและเป็นที่ต้องการของตลาด ราคาสูงกว่าเงาะพันธุ์อื่น ผลสีแดงสด โคนขนแดงปลายขนมีสีเขียว เนื้อหนาแห้งและล่อนออกจากเมล็ดได้ง่าย ถูกรสนิยมของผู้บริโภคมาก เป็นพันธุ์ที่ตอบสนองต่อปุ๋ยได้ดี ข้อเสียของเงาะพันธุ์โรงเรียนก็คือ ไม่ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หากขาดน้ำในช่วงติดผลอ่อนจะทำให้ผลแตกและร่วงหล่นเสียหายมากกว่าพันธุ์สีชมพู ปลูกกันมากในจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราชและจังหวัดอื่นๆ ทางภาคใต้ ส่วนทางภาคตะวันออกแถบจังหวัดจันทบุรีและระยองก็มีการปลูกเงาะพันธุ์นี้ด้วยเช่นกัน
2. พันธุ์สีชมพู เป็นพันธุ์ที่ปลูกกันมากในจังหวัดจันทบุรีและระยอง เป็นพันธุ์ที่ปลูกง่าย มีการเจริญเติบโต ดูแลรักษาง่าย โรคแมลงรบกวนน้อยมาก ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้ดี เป็นพันธุ์ที่ให้ผลดกมาก สีผิวของผลเมื่อสุกเป็นสีชมพูแดง ขนยาว ขนาดผลปานกลาง เนื้อหนา หวานกรอบ ฉ่ำน้ำ ข้อเสียคือบอบช้ำได้ง่าย ไม่ทนทานต่อการขนส่ง และราคาค่อนข้างต่ำ เนื่องจากไม่เป็นที่ต้องการของตลาดในบางแห่ง
การขยายพันธุ์
การขยายพันธุ์เงาะสามารถทำได้หลายวิธีเช่นเดียวกับการขยายพันธุ์ไม้ผลอื่นๆ ทั่วไป ทั้งการขยายพันธุ์แบบใช้เพศและไม่ใช้เพศ เช่น การเพาะเมล็ด การตอน การทาบกิ่ง และการติดตา แต่ในปัจจุบันนิยมการขยายพันธุ์โดยวิธีการติดตา ซึ่งในที่นี้จะกล่าวเฉพาะการเพาะเมล็ดและการติดตาเท่านั้น
การเพาะเมล็ด การขยายพันธุ์เงาะด้วยวิธีนี้มีข้อดีคือ ทำได้ง่าย ได้ต้นที่เจริญเติบโตแข็งแรงดี ข้อเสียคือ การให้ผลจะช้ากว่าการขยายพันธุ์ด้วยวิธีอื่น และมีโอกาสกลายพันธุ์ได้มาก
การคัดเลือกเมล็ดควรได้จากต้นที่สมบูรณ์แข็งแรง ให้ผลดก รสชาติดี ออกดอกสม่ำเสมอทุกปี โดยเลือกเมล็ดที่มีขนาดใหญ่และแก่เต็มที่ แล้วนำมาล้างน้ำเพื่อให้เนื้อและเมือกที่ติดมากับเมล็ดออกให้หมด ผึ่งแดดให้แห้งแล้วนำไปเพาะทันทีเพราะเมล็ดจะมีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูง แต่ในทางที่ดีเมื่อล้างเมล็ดสะอาดแล้ว ควรได้แช่เมล็ดลงในน้ำกำจัดเชื้อราเสียก่อน นำเมล็ดไปเพาะในกระบะเพาะโดยใช้วัสดุเพาะที่มีความร่วนซุยและชื้นเพียงพอ เช่น ขุยมะพร้าว ขี้เถ้าแกลบ หรือทราย หลังจากการเพาะประมาณ 2 – 3 อาทิตย์ เมล็ดจะเริ่มงอก ถ้าเป็นการเพาะในกระบะเมื่อมีใบจริงแตกออกมา 4 – 6 ใบ ก็ทำการย้ายลงไปปลูกในถุงพลาสติกที่บรรจุดินผสมกับปุ๋ยคอกและทรายในอัตราส่วน 2:1:1 แล้วนำไปดูแลรักษาในเรือนเพาะชำจนมีความแข็งแรงพอ แล้วจึงย้ายลงไปปลูกในแปลงปลูกหรือนำไปเป็นต้นตอในการติดตาต่อไป อย่างไรก็ตามในระหว่างการเพาะหรือนำไปเลี้ยงในเรือนเพาะชำ จะต้องมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอแต่อย่าให้แฉะ เมื่อต้นโตแล้วขึ้นมาและควรเปิดหลังคาที่กำบังแสงออกให้ได้รับแสงบ้างตามสมควร
การติดตา
การขยายพันธุ์แบบติดตาเป็นที่นิยมทำกันทั่วๆ ไป เนื่องจากกิ่งพันธุ์เพียงกิ่งเดียวสามารถทำการขยายพันธุ์ได้หลายต้น ให้ผลเร็ว มีอายุไม่ยืน ไม่กลายพันธุ์ ต้นจะเป็นพุ่มกว้างไม่สูงนัก สะดวกในการเก็บเกี่ยวผลผลิตป้องกันและกำจัดโรคแมลงได้ง่าย และง่ายต่อการตัดแต่งกิ่งอีกด้วย ตาพันธุ์ที่ดีใช้ในการติดตาควรเตรียมไว้ให้เรียบร้อย โดยตัดหรือตอนปลายกิ่งที่จะใช้ตาออกเสียก่อนประมาณ 10 – 15 วันเพื่อให้เร่งให้ตาที่เหลือเจริญออกมาเร็วขึ้น สำหรับต้นตอได้มาจากการเพาะเมล็ดซึ่งควรปลูกอยู่ในแปลงชำหรือในสวนแล้ว มีอายุประมาณ 1 ปี หรือลำต้นโตขนาดแท่งดินสอดำเป็นอย่างน้อย ไม่แก่หรือใหญ่จนเกินไปจนลอกเปลือกไม่ออก ก่อนที่จะทำการติดตาให้ตัดกิ่งข้างออกให้หมดเหลือไว้แต่กิ่งยอดตรงๆ ริดใบที่โคนต้นบริเวณที่จะทำการติดตาออก ส่วนฤดูที่เหมาะต่อการติดตาคือ ฤดูฝน
วิธีการติดตามีขั้นตอนดังนี้
1. กรีดต้นตอให้ถึงเนื้อไม้ยาวประมาณ 1.5 นิ้ว จำนวน 2 รอยห่างกันประมาณ 1 เซนติเมตร โดยให้รอยกรีดสูงจากดินโคนต้นประมาณ 3 นิ้ว แล้วกรีดขวางด้านบนระหว่างรอยกรีดทั้งสองแล้วลอกเปลือกออกตามรอยที่กรีดไว้ ตัดเปลือกต้นตอที่ลอกออกนั้นให้เหลือไว้ทางด้านล่างประมาณ 1 ใน 3 เพื่อรองรับแผ่นตาที่จะนำมาติด
2. เฉือนกิ่งตาให้เป็นรูปโล่ยาวประมาณ 1.5 นิ้ว ลอดเนื้อไม้ออกจากแผ่นตา แล้วนำแผ่นตาสอดลงไปในแผลของต้นตอที่เตรียมไว้
3. พันด้วยผ้าพลาสติกให้แน่นทิ้งไว้ประมาณ 21 – 30 วัน หากแผ่นตายังเป็นสีเขียวอยู่แสดงว่าการติดตาให้ผลดี จึงให้ทำการกระตุ้นตาโดยใช้มีดบากเหนือรอยแผลประมาณ 1 นิ้ว และต้องบากให้ลึกเข้าไปถึงเนื้อไม้ เมื่อตาที่ติดเจริญขึ้นมาเล็กน้อยให้ตัดยอดของต้นตอออก โดยตัดใต้รอยบาก แล้วจึงนำไปดูแลรักษาในเรือนเพาะชำให้แข็งแรงจึงนำไปปลูก
ข้อมูลจาก
http://www.giswebr06.ldd.go.th/lddweb/knowledge/plant/rambutan/1.html