ทุกๆ 4 ปีที่เป็นเลขคู่ ในสหรัฐอเมริกาจะจัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดี โดยจัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันอังคารแรกในเดือนพฤศจิกายน เหตุที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกานั้นเป็นเรื่องที่ชาวอเมริกันให้ความสนใจเป็นอย่างมากเพราะเมื่อพวกเขาออกมาเลือกผู้แทน พวกเขากำลังเลือกผู้นำที่จะกำหนดอนาคตสังคมของพวกเขา และเหตุที่คนทั่วโลกจับตาดูการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกานั้นก็เพราะการเปลี่ยนแปลงผู้นำของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกานั่นหมายถึงการเปลี่ยนแปลงและการกำหนดอนาคตโลกซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทุกประเทศ ดังนั้นเราจึงต้องเตรียมพร้อมรับมือกับนโยบายต่างๆของสหรัฐอเมริกาที่เปลี่ยนแปลงไป
ขั้นตอนการเข้าแข่งขันเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในนามพรรค
ในขณะนี้ทั้งสองพรรคต่างก็ได้ตัวแทนของพรรคเพื่อลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว ซึ่งได้แก่ นายบารัค โอบามา ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาและเป็นตัวแทนจากพรรคเดโมแครต และนายมิตต์ รอมนีย์ นักธุรกิจมหาเศรษฐี และอดีตผู้ว่าการรัฐแมสซาชูเซตส์ เป็นตัวแทนจากพรรคริพลับกัน ซึ่งขั้นตอนการหลังจากได้ตัวแทนพรรคแล้วจะไปสู่ขั้นตอนต่างๆดังต่อไปนี้
1.การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง (Campaign)
การรณรงค์หาเสียงเป็นกิจกรรมก่อนการเลือกตั้งที่ทั้งผู้สมัครและผู้ที่ให้การสนับสนุนผู้สมัครพยายามใช้วิธีการต่างๆเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนชาวอเมริกันออกมาลงคะแนนเสียงให้พรรคของตน การรณรงค์หาเสียงเป็นกิจกรรมที่ใช้เงินจำนวนมาก เงินที่ผู้สมัครและพรรคใช้จ่ายส่วนมากจะเรื่องของการโฆษณาทางโทรทัศน์ เพราะเป็นวิธีการที่ผู้สมัครสามารถเข้าถึงประชาชนได้ง่ายกว่าวิธีอื่นๆ นอกจากนี้ผู้สมัครยังต้องเดินทางไปหาเสียงตามรัฐต่างๆทั่วประเทศ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาก ตัวอย่างเช่น ข้อมูลจาก Center for responsive politic ระบุว่าเมื่อการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้านี้ในปี 2553 บารัค โอบามา ใช้เงินถึง 730 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในการหาเสียง และ จอห์น แมคเคน ผู้ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากริพลับลิกันใช้เงินไป 333 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
กฎหมายของสหรัฐอเมริกามีการกำหนดลงไปอย่างชัดเจนว่าผู้รับเลือกตั้งเพื่อดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี จะระดมทุนหาเสียงได้อย่างไร จากผู้ใด ในระบบของสหรัฐอเมริกาผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจะต้องระดมเงินทุนให้ได้หลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯเพื่อใช้ในการหาเสียงจึงต้องพยายามหาผู้บริจาคหลายพันราย ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ผู้สมัครต้องจ้างคณะทำงาน จัดเตรียมสถานที่ทำงานและการเดินทาง ทำการสำรวจวิจัย ออกเอกสารแสดงจุดยืน โฆษณาทางวิทยุโทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ และอินเตอร์เนต และจัดปราศรัยพบปะประชาชนในที่สาธารณะและจัดงานระดมทุนต่างๆมากมาย
การใช้อินเตอร์เนตเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้สนับสนุนนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการหาเสียงเลือกตั้ง และระดมเงินทุนตลอดทั้งเป็นวิธีการประชาสัมพันธ์นโยบายและประสบการณ์ของผู้สมัครที่มีประสิทธิภาพมากวิธีหนึ่ง นอกจากนั้นองค์กรรณรงค์หาเสียงต่างมีเว็ปไซด์ส่วนตัว (blog) ผู้จัดการเวปไซต์ส่วนตัวเหล่านี้คือ เจ้าหน้าที่รณรงค์หาเสียงที่ได้รับการว่างจ้างให้เขียนเกี่ยวกับคำปราศรัย สุนทรพจน์และกิจกรรมของผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ
ในขณะเดียวกันก็มี Blog อิสระหลายพันเว็ปไซด์ที่เขียนบทความสนับสนุนผู้รับสมัครเลือกตั้งที่ตนเองชื่นชอบและตอบโต้กับ Bloger อื่นๆ การเผยแพร่วีดีทัศน์บนเว็บไซด์ต่างๆ เช่น YouTube เป็นทั้งโอกาสและหลุมพรางสำหรับการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งนำเทคโนโลยีนี้มาใช้เป็นประโยชน์ในการผลิตวีดีทัศน์เกี่ยวกับตนเอง ซึ่งบางครั้งก็นำเสนอในแนวทางขบขัน หรือการนำเสนอที่ประชดประชันฝ่ายตรงข้าม แต่บางครั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งก็ถูกบันทึกภาพอย่างไม่รู้ตัวและไม่ทันได้ระวัง จึงอาจพูดหรือทำอะไรที่ปกติจะไม่พูดหรือกระทำต่อหน้าสาธารณชน แล้วถูกนำมาเผยแพร่เหตุการณ์ที่เข้าทำไปนั้นทางอินเตอร์เนตหรือโทรทัศน์นับครั้งไม่ถ้วน
ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีต้องจัดตั้งองค์กรรณรงค์หาเสียงซึ่งเรียกว่า คณะกรรมการการเมือง (Political Committee) คณะกรรมการการเมืองนี้ต้องมีเหรัญญิก และต้องขึ้นทะเบียนกับคณะกรรมการการเลือกตั้งกลางของสหรัฐ (Federal Election Commission) แม้ว่าจะใช้ชื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งกลางแต่ในความเป็นจริงแล้ว คณะกรรมการฯมีหน้าที่เพียงกำกับดูแลให้มีการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยเงินทุนรณรงค์การหาเสียงเลือกตั้ง แต่มิได้ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งแต่ประการใด ซึ่งกระบวนการการลงทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง การดำเนินการลงคะแนนเลือกตั้ง ตลอดจนการนับคะแนนจะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เลือกตั้งของรัฐและท้องถิ่น
เมื่อขึ้นทะเบียนแล้ว คณะกรรมการการเมืองจึงสามารถเริ่มระดมทุนเพื่อใช้ในการหาเสียงได้ เงินบริจาคในลักษณะดังกล่าวรวมทั้งค่าใช้จ่าย ต้องทำรายงานยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งกลางทุกไตรมาสหรือทุกเดือน รายงานดังกล่าวอาจจะยื่นทางอิเล็กทรอนิกส์และประชาชนจะเข้าป่านได้ทางเว็บไซด์ของคณะกรรมการการเลือกตั้งกลาง
http://www.fec.org องค์กรเอกชนจำนวนมากมีเว็บไซด์ที่คอยตรวจดูเงินบริจาคและรายจ่ายต่างๆของผู้สมัครรับเลือกตั้ง พรรคการเมืองและคณะกรรมการกิจกรรมทางการเมือง จุดประสงค์ของการกำหนดดังกล่าวก็เพื่อให้ความสะดวกแก่สื่อมวลชนและผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการหาข้อมูลว่ากลุ่มใดให้เงินกับผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดและแก่อุดมการณ์ใด กฎหมายจำกัดจำนวนเงินที่บุคคลแต่ละคนและคณะกรรมการแต่ละคณะสามารถบริจาคให้แก่ผู้รับสมัครรับเลือกตั้งที่ตนสนับสนุนได้
สำหรับการให้เงินอุดหนุนการรณรงค์หาเสียงจากภาครัฐนั้น นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 ผู้สมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีมีสิทธิเข้าร่วมระบบการให้เงินอุดหนุนจากรัฐ ก่อนถึงการเลือกตั้งปี พ.ศ.2543 ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้รับการเสนอชื่อให้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเข้าร่วมระบบนี้โดยการยอมรับเงินอุดหนุนจากรัฐแลกกับการให้สัญญาว่าจะไม่ใช้เงินเกินกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ตามระบบนี้เริ่มไม่น่าสนใจสำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากเพดานเงินที่สามารถใช้จ่ายได้ต่ำเกินไป และน้อยกว่าจำนวนเงินที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งรายใหญ่มักหาได้ง่ายๆจากแหล่งเงินทุนสนับสนุนภาคเอกชน ดังนั้นผู้สมัครรับเลือกตั้งรายใหญ่หลายคนจึงมักตัดสินใจสละสิทธิไม่รับเงินอุดหนุนจากรัฐ
สัตว์สัญลักษณ์ทางการเมืองของสหรัฐอเมริกา
ในการรณรงค์การเสียงเลือกตั้งเราจะสังเกตเห็นสัญลักษณ์อันเป็นตัวแทนของทั้งสองพรรคได้แก่ “ช้าง” เป็นสัญลักษณ์ของพรรคริพลับลิกัน และ “ลา”เป็นสัญลักษณ์ของพรรคเดโมแครต
ทำไมเดโมแครตต้องเป็นลา และริพลับลิกันต้องเป็นช้าง?
ลา นั้นเริ่มถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของพรรคเดโมแครตมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2371 ในขณะนั้นประธานาธิบดีแอนดรู แจ็คสัน กำลังหาเสียงเลือกตั้ง คู่แข่งของอีกฝ่ายเรียกเขาว่า “ลาโง่” แต่เขาก็กลับใช้ลามาเป็นสัญลักษณ์ในโปสเตอร์หาเสียงของเขา และในช่วงสมัยที่เป็นประธานาธิบดี ลาก็เป็นสิ่งที่ถูกนำมาใช้แสดงถึงความดื้อดึงของประธานาธิบดีแอนดรู แจ็คสัน
สัญลักษณ์รูปลาได้มีกลายมาเป็นที่รู้จักมากขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2413 ผลงานภาพวาดที่ชื่อว่า “เจ้าลาโง่เตะสิงโตที่ตายแล้ว”(A live Jackass kicking a dead lion)ของนาย โธมัส แนสต์ นักเขียนการ์ตูนล้อการเมือง ได้ถูกตีพิมพ์ลงไปในนิตยสารการเมืองรายสัปดาห์ชื่อ ฮาร์เปอร์
ภาพจาก ห้องสมุดของสภาคองเกรส (Library of Congress)
ในภาพแนสต์วาดรูปนี้เพื่อเสียดสีพรรเดโมแครตที่แพ้แล้วไม่ยอมรับว่าแพ้ออกมากล่าวหาพรรคริพลับลิกันต่างๆนานา เขาจึงใช้ภาพลากำลังเตะสิงโตที่ตายแล้วเพื่อแสดงให้เห็นถึงความดื้อและโง่เขลา แต่พรรคเดโมแครตรับเอาสัญลักษณ์ลามาเป็นสัญลักษณ์ของพรรคเพราะเชื่อว่า ลาเป็นสัตว์ที่ฉลาด และ กล้าหาญ รวมทั้งไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะมีการใช้สัญลักษณ์ลานี้อย่างแพร่หลาย แต่จนถึงทุกวันนี้พรรคเดโมแครตของยังไม่ได้มีการรับรองสัญลักษณ์นี้อย่างเป็นทางการ
สำหรับสัญลักษณ์รูปช้าง ในปี พ.ศ.2417 แนสต์ได้วาดรูปช้างให้เป็นตัวแทนของพรรคริพลับลิกัน โดยมีการตีพิมพ์ภาพลงในนิตยสารการเมืองรายสัปดาห์ชื่อ ฮาร์เปอร์
“The Third Term Panic”
ในภาพมีรูปช้างที่แสดงถึงพรรครีพลับลิกัน และมีลาที่ใส่ชุดสิงโตซึ่งหมายถึงพรรคเดโมแครต ที่แสดงท่าทางทำให้ช้างหวาดกลัวและออกอาวะวาดทำให้สัตว์ต่างๆหนีกันไปคนละทิศละทาง ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่ประธานาธิบดียูลิซีส แกรนต์ จากพรรคริพลับลิกันกำลังอยู่ระหว่างการหาเสียงเพื่อเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สาม
พรรคริพลับลิกันมีความเชื่อว่าช้าง เป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแรง ฉลาดหลักแหลมและมีเกียรติยศ ศักดิ์ศรี และมีการรับรองเอาสัญลักษณ์ช้างเป็นสัญลักษณ์อย่างเป็นทางการของพรรคด้วย
ข้อมูลจาก
www.matichon.co.th อ.ดร.ประพีร์ อภิชาติสกล ผู้อำนวยการศูนย์อเมริกันศึกษา
ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เวลา 09:09:09 น.