ตุ๊บโหม่งเป็นชื่อพ่อค้าขายขนมทอดในตลาดของหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ขนมทอดของตุ๊บโหม่งรสชาติดี เป็นที่นิยมชมชอบของชาวบ้านในละแวกนั้น แต่ตุ๊บโหม่งก็ยังไม่พอใจ เขาอยากขายขนมให้ได้มากกว่านี้ และไม่ต้องการให้พ่อค้าคนอื่นมาขายขนมแข่งกับเขา แม้ว่าขนมนั้นจะเป็นคนละอย่างกับที่เขาขายอยู่ก็ตาม
“จะเป็นอย่างไรนะ ถ้าชาวบ้านไม่อยากกินขนมของพ่อค้าแม่ค้าเจ้าอื่น...ใช่ล่ะ ถ้าเป็นอย่างนั้นชาวบ้านก็จะไม่มีตัวเลือก และแห่มาซื้อขนมของเราเพียงเจ้าเดียว เราก็จะขายขนมหมดทุกวัน และได้เงินเพิ่มขึ้นอีกมากเลยทีเดียว” ตุ๊บโหม่งคิดร้ายอยู่ในใจ และลงมือปฏิบัติตามแผนการร้ายด้วยตนเองโดยใช้นิสัยชั่วร้ายประจำตัวอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือ การนินทาว่าร้ายผู้อื่น
เมื่อมีลูกค้ามาซื้อขนมของเขา ตุ๊บโหม่งจะพยายามพูดจาให้ร้ายขนมของพ่อค้าแม่ค้าคนอื่นให้ลูกค้าฟังอยู่เสมอ
“ฉันได้ข่าวว่า ป้าชอบซื้อมันทอดของพ่อค้าหลังตลาดไปกินบ่อยๆ หรือ” ตุ๊บโหม่งถามลูกค้ารายหนึ่งที่แวะซื้อขนมของเขา
“ใช่แล้ว มันทอดของพ่อค้าคนนั้นน่ะรสชาติดีเยี่ยมที่สุด” ป้ากล่าวชมอย่างจริงใจ
“นี่ๆ อย่าว่าอย่างนั้นอย่างนี้เลยนะป้า ป้าไม่รู้หรือว่าเขาไม่เคยเปลี่ยนน้ำมันทอดเลยนะ ฉันเคยแอบเห็นน้ำมันที่เขาใช้แล้วด้วย โอย ดำปิ๊ดปี๋ยังกับน้ำครำแหน่ะ แล้วป้ายังจะกินลงอีกหรือ” ตุ๊บโหม่งป้องปากเล่า
“จริงเรอะ ไม่เคยรู้มาก่อนเลย ดีแล้ว ต่อไปนี้ฉันจะไม่ซื้อมันทอดของเขามากินอีก ต่อให้อร่อยอย่างไรก็เถอะ คนมักง่ายไม่มีความรับผิดชอบอย่างนี้ไม่น่ามาขายของกินเลย”
ได้ฟังดังนั้น ตุ๊บโหม่งก็นึกกระหยิ่มยิ้มย่องในผลงานอันชั่วร้ายของตนและรู้สึกสนุกกับการว่าร้ายพ่อค้าแม่ค้าขนมคนอื่นๆ ให้ลูกค้าฟังทุกวัน
“นี่ๆ พี่รู้ไหม ร้านนั้นน่ะ ชอบเอาขนมเหลือเมื่อวานมาหลอกขายลูกค้าประจำเลยนะ ถ้ามีคนซื้อกินแล้วเกิดท้องเสียขึ้นมาจะทำอย่างไร แย่จริงๆ”
“ขนมชั้นร้านป้าพุดขายแพ้งแพง แถมรสชาติก็งั้นๆ อย่าไปซื้อกินเลยดีกว่าน้อง”
“เดี๋ยวนี้ฝีมือทำขนมของยายทองตกลงไปแยะเลยรู้ไหม วันก่อนลูกค้าที่เคยซื้อขนมของแกไปกินยังมาบ่นให้ฉันฟังเลยว่า ขนมของแกไม่อร่อยเหมือนก่อนอีกแล้ว”
ยิ่งถ้ามีพ่อค้าแม่ค้าขนมร้านใหม่นำขนมมาขายให้ตุ๊บโหม่งได้เห็นล่ะก็ ตุ๊บโหม่งจะพูดจาว่าร้ายไม่ให้ลืมตาอ้าปากได้เลยทีเดียว
“ดูขนมของร้านนั้นสิ มือสมัครเล่นแท้ๆ ยังริจะทำขนมอีก มีครั้งหนึ่งฉันเลยลองชิมดู เชื่อไหม แทบจะคายออกมาไม่ทัน รสชาติไม่ได้เรื่อง กลิ่นก็เหม็นสาบมาก แถมมีแมลงวันตกลงไปตายอีก พูดถึงขนมร้านนั้นแล้วรู้สึกคลื่นไส้อย่างไรไม่รู้สิ”
ยิ่งนานวันเข้า ตุ๊บโหม่งก็รู้สึกว่าแผนการร้ายของตนให้ผลที่ดีมากเลยทีเดียว เพราะชาวบ้านไม่ซื้อขนมของพ่อค้าแม่ค้ารายอื่นมากินอีกแล้ว แต่พากันมารุมซื้อขนมของตุ๊บโหม่งเพียงคนเดียว ตุ๊บโหม่งจึงขายขนมหมดและได้เงินมากมายทุกวัน
พ่อค้าแม่ค้าขนมคนอื่นๆ ต่างเริ่มสังเกตเห็นความผิดปกตินี้ จึงช่วยกันสืบหาความจริง ในไม่ช้าพวกเขาก็พบต้นตอของปัญหาทั้งหมด
“เราจะทำอย่างไรต่อไปดี เจ้าตุ๊บโหม่งทำเอาขนมของเราขายไม่ออกเลย” แม่ค้าขนมตาลพูดอย่างหนักใจ
“เราต้องทำให้ชาวบ้านเห็นว่าขนมของพวกเราไม่ได้แย่ถึงขนาดนั้น แล้วเราก็ต้องหาทางดัดหลังเจ้าตุ๊บโหม่งให้รู้สำนึกด้วย” พ่อค้ามันทอดกล่าวอย่างมีอารมณ์
“อย่างนั้นเราต้องวางแผนให้รัดกุม หนามยอกต้องเอาหนามบ่ง เมื่อเจ้าตุ๊บโหม่งใช้การนินทาว่าร้ายป้ายสีพวกเรา เราก็จะใช้นิสัยจอมนินทาของตุ๊บโหม่งสั่งสอนตัวเขาเอง” พ่อค้าลอดช่องน้ำกะทิเสนอ
พ่อค้าแม่ค้าขนมต่างสนใจในแผนการนี้ พวกเขาคิดวิธีที่จะสั่งสอนตุ๊บโหม่งให้เข็ดหลาบจากสิ่งที่ได้ทำไว้กับคนอื่น เมื่อคิดแผนการได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็รีบดำเนินการตามแผนนั้นทันที
พ่อค้าแม่ค้าที่รับหน้าที่สอดแนมแอบย่องไปสังเกตการณ์ที่บ้านตุ๊บโหม่ง รอจนเขาเริ่มตั้งเตาไฟ และนำขนมทั้งหมดลงทอดในกระทะใบใหญ่ จึงส่งสัญญาณบอกพวกที่เหลือให้ทราบ
พ่อค้าแม่ค้าอีกห้าคนเตรียมตัวรออยู่ก่อนแล้ว จึงเดินออกมาจากที่ซ่อนแล้วไปเคาะประตูเรียกตุ๊บโหม่ง
“อ้าวทุกคนมาได้อย่างไร ไม่อยู่บ้านเตรียมขนมขายหรือ” ตุ๊บโหม่งทักทายเพื่อนๆ ตามมารยาท แต่ในใจนึกกระหยิ่มว่าขนมของคนเหล่านี้ ถึงทำไปก็ขายไม่ออกผิดกับขนมของตนเองอย่างลิบลับ
“ช่วงนี้เราทำขนมขายไม่มาก เลยมีเวลาว่างเยอะหน่อย ก็เลยแวะมาพูดคุยกับนายนี่ล่ะ” พ่อค้าคนหนึ่งตอบ
“อย่างนั้นหรอกรึ แต่ฉันเพิ่มจำนวนทำขนมมากขึ้น และทอดทั้งหมดลงในกระทะใหญ่ตั้งสองใบแหน่ะ จะได้เสร็จเร็วๆ เพราะฉะนั้นฉันไม่ว่างคุยกับพวกนายหรอก” ตุ๊บโหม่งพยายามซ่อนรอยยิ้ม
“อย่างนั้นก็น่าเสียดายแย่ พวกเราเห็นว่าเธอคือคนที่รู้อะไรในหมู่บ้านของเรามากมาย ก็เลยอยากมาถามเรื่องของใครต่อใครจากเธอหน่อยน่ะ” แม่ค้าอีกคนว่า
การนินทาเป็นเหมือนอาหารอันโอชะของตุ๊บโหม่ง แม้จะไว้ตัวทำเป็นอิดออดในตอนแรก แต่สุดท้ายเขาก็ร่วมวงคุยด้วยอย่างออกรสชาติ พ่อค้าแม่ค้ากลุ่มนี้แกล้งทำเป็นยกเรื่องของคนนั้นคนนี้มานินทากับตุ๊บโหม่งอยู่นานเป็นชั่วโมง เมื่อฝ่ายสังเกตการณ์ส่งสัญญาณจากในที่ลับว่าถึงแก่เวลาแล้ว พ่อค้าแม่ค้าที่คุยอยู่ก็ทำทีเป็นขอตัวลากลับ ทั้งๆ ที่ตุ๊บโหม่งยังดูเหมือนจะมีเรื่องของใครๆ มานินทาให้พวกเขาฟังอีกมากมาย
เมื่อทุกคนกลับไปแล้ว ตุ๊บโหม่งจึงเดินเข้าไปในครัว เขามัวเพลินอยู่กับการนินทาชาวบ้านจนนึกว่าเวลาผ่านไปไม่นาน
แต่แล้วตุ๊บโหม่งก็แทบเป็นลมด้วยความตกใจ เมื่อขนมของเขาไหม้หมดสิ้นทั้งสองกระทะ ตุ๊บโหม่งไม่รู้จะทำอย่างไร เขาทรุดตัวลงกับพื้นและร้องไห้ เพราะไม่มีขนมจะขายในวันพรุ่งนี้
ในวันรุ่งขึ้น เมื่อตุ๊บโหม่งไม่ได้ไปขายขนม ขนมของพ่อค้าแม่ค้าคนอื่นๆ จึงขายดิบขายดีไปตามๆ กัน ชาวบ้านมีโอกาสได้เลือกซื้อขนมหลายชนิดขึ้น ทุกคนที่ได้ลิ้มรสขนมของพ่อค้าแม่ค้าซึ่งตนไม่ได้อุดหนุนเป็นเวลานานแล้ว ต่างก็พากันชมว่าขนมอร่อย คุณภาพใช้ได้
ชาวบ้านจึงพากันรู้ความจริงในที่สุดว่า สิ่งที่ตุ๊บโหม่งพูดทั้งหมดเป็นเรื่องโกหก ดังนั้นในวันต่อๆ มา ขนมของพ่อค้าแม่ค้าทุกคนในตลาดจึงขายดี ยกเว้นขนมของตุ๊บโหม่ง ที่ไม่มีใครอยากซื้อกินอีกต่อไป ถึงแม้ว่าเขาจะทำขนมได้อร่อยแค่ไหนก็ตาม
บทสรุปของผู้แต่ง
การนินทามักสร้างความเสียหายให้แก่ผู้อื่นโดยที่บางครั้งคนที่เราถูกกล่าวหาก็มิได้กระทำความผิดใดๆ เลย ดังนั้นคนที่ชอบนินทา ก็คือคนที่ชอบทำร้ายผู้อื่น ด้วยเหตุนี้ถ้าเธอมิใช่ผู้ชอบนินทาใคร ก็ถือว่าเธอเป็นคนที่ประเสริฐนัก แต่หากเธอหลงไปฟังคำนินทาว่าร้ายคนอื่นจากใครเข้า เธอก็ต้องฟังหูไว้หู อย่าเชื่อคำพวกนั้นทันทีโดยไม่ตรึกตรอง อีกทั้งคนที่ชอบนินทาก็มิใช่มิตรที่เธอควรคบหานัก แม้ต่อหน้าเขาจะทำเหมือนว่าเธอคือมิตรรัก แต่แน่ใจได้อย่างไรว่าเมื่อลับหลังไปแล้ว เขาจะไม่พูดจาว่าร้ายเธอดังเช่นที่ชอบทำกับคนอื่น ๆ ในเมื่อนั่นเป็นสิ่งที่เขาโปรดปราน
การนินทาสร้างความเสียหายให้ผู้อื่น ส่วนผู้นินทาก็มิได้รับผลดีแต่ประการใด ยิ่งคนไหนชอบนินทาคนอื่นมากเท่าไร คนๆ นั้นก็จะหาความเชื่อใจจากมิตรสหายได้ยากมากเท่านั้น
ขอบคุณหนังสือด้วยรักบันดาล...นิทานสีขาว เล่าเรื่องโดย ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา และสำนักพิมพ์ ฟรีมายด์ที่เอื้อเฟื้อข้อมูลค่ะ
ข้อมูลจาก
http://www.manager.co.th/