เขียนถึงกรณีพิพาทของภาครัฐกันเองในเรื่องการก่อสร้างท่าเรือเกาะเสม็ดในมุมของฝ่ายต่างๆมาแล้ว คราวนี้มาถึงมุมมองของฝ่ายอุทยานบ้าง
นายเริงชัย ประยูรเวช รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ให้คำชี้แจงมาว่า
ท่าเทียบเรือเกาะเสม็ด หากเป็นการซ่อมแซมท่าเทียบเรือเดิมสามารถทำได้ แต่โครงการก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือเกาะเสม็ดขององค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง เป็นการสร้างท่าเทียบเรือใหม่มีขนาดใหญ่กว่าท่าเทียบเรือเดิมมาก มีพื้นที่ล่วงล้ำลำน้ำ 4,320 ตารางเมตร
พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด และอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2543 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 กำหนดให้มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) สำหรับโครงการพัฒนาใดๆ ที่มีแนวโน้มจะก่อให้ เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ
ปรากฏตามหนังสือสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ที่ได้แจ้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
สอดคล้องกับการที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ให้หน่วยงานแจ้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง ดำเนินการ
ต่อมา สผ.ได้มีหนังสือแจ้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง
ว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีความเห็นว่าการก่อสร้างในพื้นที่ชุ่มน้ำหรือระบบนิเวศใดๆ ย่อมมีผลกระทบต่อระบบนิเวศ
นั้นๆ จะเป็นด้านใดบ้าง ควรทำการศึกษา ซึ่งการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นกระบวนการสำคัญและเป็นเครื่องมือที่จำเป็นต่อการตัดสินพัฒนาโครงการ
จึงควรทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) ก่อน เพื่อเป็นการตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเกิดขึ้น และ สผ.ได้แจ้งเพิ่มเติมว่า IEE สามารถใช้เป็นเครื่องมือชี้ให้ทราบว่าโครงการมีแนวโน้มก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของพื้นที่ชุ่มน้ำหรือไม่ ในกรณีที่ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าโครงการมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจะต้องจัดทำ EIA ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 ต่อไป
ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติมีพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ใช้บังคับ โดยมีเจตนารมณ์ที่จะคุ้มครองดูแลรักษาพื้นที่เพื่อประโยชน์แก่รัฐและประชาชนสืบไปให้มีความยั่งยืน
ไม่มีบทบัญญัติให้มีการใช้พื้นที่ หากมีความจำเป็นต้องดำเนินการ ต้องมีกฎหมายเพิกถอนพื้นที่ออกจากการเป็นอุทยานแห่งชาติ หรือต้องดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 โดยต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตามระเบียบกฎหมายที่กำหนด มิใช่องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง หรือจังหวัดระยอง หรืออุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด จะเป็นผู้พิจารณาได้เอง
ส่วนเรื่องการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ หรือเอ็มโอยู นั้นมีความหมายอย่างไรจะได้นำเสนอในวันต่อไป.
“ซี.12”
ข้อมูลจาก
www.thairath.co.th โดย ซี.12
18 ตุลาคม 2555, 05:00 น.