โดยทั่วไปทุเรียนแต่ละผลประกอบด้วย
ส่วนที่เป็นเปลือก 55 ถึง 66 เปอร์เซ็นต์
ส่วนที่เป็นเมล็ด 12 ถึง 15 เปอร์เซ็นต์
และส่วนที่เป็นเนื้อบริโภคได้ 22 ถึง 30 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์เป็นสำคัญ
เนื้อทุเรียนจัดได้ว่าเป็นผลไม้ที่ให้พลังงานสูง เนื้อ 100 กรัมหรือประมาณจากสองเมล็ดจะให้พลังงานระหว่าง 134 ถึง 187 กิโลแคลอรี่ ขึ้นอยู่กับพันธุ์ ซึ่งนับว่ามีพลังงานสูงมากเมื่อเทียบกับผลไม้ด้วยกัน
ทั้งนี้เพราะเนื้อทุเรียนมีคาร์โบไฮเดรตและไขมันสูง รวมทั้งเนื้อทุเรียนยังมีโปรตีนและแร่ธาตุ เช่น แคลเซียมและฟอสฟอรัสสูงด้วย การที่ทุเรียนให้พลังงานสูง จึงมีข้อแนะนำจากกรมอนามัย เสนอแนะวิธีการกินทุเรียนอย่างฉลาด คือ มื้อใดที่ท่านกินทุเรียน ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ให้พลังงานสูง เช่น อาหารประเภททอด อาหารที่ปรุงด้วยกะทิ อาหารหวานต่างๆ และต้องลดอาหารกลุ่ม ข้าวและแป้งลงมื้อละ 1 ทัพพี หรือลดอาหารในมื้อต่อไปลง และควรเพิ่มการออกกำลังกายให้มากขึ้น สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจโรคเบาหวาน ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
หากรู้สึกอยากกินทุเรียนก็สามารถกินได้บ้าง แต่ไม่ควรกินมาก นอกจากนั้นเนื้อทุเรียนยังมีสารซัลเฟอร์หรือกำมะถันตามธรรมชาติในปริมาณมาก สารนี้เองที่มีส่วนทำให้กลิ่นทุเรียนคล้ายกลิ่นกำมะถันด้วย ด้วยเหตุนี้คนโบราณจึงจัดให้ทุเรียนเป็นอาหารร้อน เมื่อกินแล้วต้องให้แก้ด้วยผลไม้เย็น คือมังคุด
และยังมีข้อแนะนำว่าไม่ควรกินทุเรียนกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะสารซัลเฟอร์ในทุเรียนจะทำปฏิกิริยากัน ก่อให้เกิดพิษกับร่างกาย เนื่องจากสารซัลเฟอร์ละลายได้ดีในแอลกอฮอล์ ซึ่งจะทำให้ถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้เร็วขึ้น ฤทธิ์ร้อนของซัลเฟอร์ที่แผ่เข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็วไม่เป็นผลดีต่อร่างกาย
ข้อมูลจาก คลังข้อมูลสารสนเทศระดับภาค (ภาคใต้) โดย สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)