โปแทสเซียม เป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย โดยมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้การทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายเป็นปกติ เช่น ระบบประสาทและกล้ามเนื้อ โปแทสเซียมช่วยควบคุมสมดุลของอิเล็กโตรไลต์และสมดุลของกรด-เบสในร่างกาย ป้องกันภาวะกรดเกิน (hyperacidity) และยังช่วยควบคุมความดันโลหิตที่สูงและลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย
มีรายงานวิจัยจำนวนมากที่ระบุว่าในกลุ่มประชากรที่ได้รับโปแทสเซียมจากอาหารในปริมาณที่สูงมีค่าเฉลี่ยของความดันโลหิตและอัตราการเกิดโรคความดันโลหิตสูงต่ำกว่ากลุ่มประชากรที่ได้รับโปแทสเซียมจากอาหารในปริมาณที่น้อย และยังพบว่าการได้รับโปแทสเซียมจากอาหารอย่างเพียงพอ มีผลช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคเรื้อรังชนิดอื่น ๆ โดยในงานวิจัยของ Ascherio และคณะ ได้รายงานว่าสามารถลดความเสี่ยงของภาวะการอุดตันของเส้นโลหิตที่ไปเลี้ยงสมอง (Stroke) ได้ถึง 30%
ในคนปกติที่มีอายุตั้งแต่ 14 ปีขึ้นไป ควรได้รับโปแทสเซียมในปริมาณ 4.7 กรัมต่อวัน (ข้อมูลจาก Food and Nutrition Board, Institute of Medicine) ปัจจุบันคนส่วนใหญ่ยังได้รับปริมาณโปแทสเซียมต่ำกว่าปริมาณที่แนะนำ ซึ่งการที่จะทำให้ได้รับโปแทสเซียมอย่างเพียงพอในแต่ละวันนั้นทำได้ไม่ยาก เพราะโปแทสเซียมมีอยู่มากในอาหารหลากหลายชนิด เช่น ผัก ผลไม้ ผลิตภัณฑ์นมที่มีไขมันต่ำหรือไม่มีไขมัน ถั่วต่าง ๆ และธัญพืช เรามาพิจารณากันดีกว่าว่าอาหาร 10 อันดับที่มีปริมาณโปแทสเซียมสูงมีอะไรบ้าง
อันดับที่ 1 ผงโกโก้
ขนาดบริโภค : 100 กรัม
ปริมาณโปแทสเซียม : 1.5 กรัม
อันดับที่ 2 ลูกพรุน (อบแห้ง)
ขนาดบริโภค : 100 กรัม
ปริมาณโปแทสเซียม : 1.1 กรัม
อันดับที่ 3 ลูกเกด
ขนาดบริโภค : 100 กรัม
ปริมาณโปแทสเซียม : 892 มิลลิกรัม
อันดับที่ 4 เมล็ดทานตะวัน
ขนาดบริโภค : 100 กรัม
ปริมาณโปแทสเซียม : 850 มิลลิกรัม
อันดับที่ 5 อินทผาลัม
ขนาดบริโภค : 100 กรัม
ปริมาณโปแทสเซียม : 696 มิลลิกรัม
อันดับที่ 6 ปลาแซลมอน
ขนาดบริโภค : 100 กรัม
ปริมาณโปแทสเซียม : 628 มิลลิกรัม
อันดับที่ 7 ผักโขม (สด)
ขนาดบริโภค : 100 กรัม
ปริมาณโปแทสเซียม : 558 มิลลิกรัม
อันดับที่ 8 เห็ด
ขนาดบริโภค : 100 กรัม
ปริมาณโปแทสเซียม : 484 มิลลิกรัม
อันดับที่ 9 กล้วย
ขนาดบริโภค : 100 กรัม
ปริมาณโปแทสเซียม : 358 มิลลิกรัม
อันดับที่ 10 ส้ม
ขนาดบริโภค : 100 กรัม
ปริมาณโปแทสเซียม : 181 มิลลิกรัม
จะเห็นได้ว่าเราสามารถเลือกรับประทานอาหารได้หลากชนิดเพื่อให้ได้รับโปแทสเซียมในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน แต่ทั้งนี้ เราควรบริโภคอาหารอย่างถูกหลักโภชนาการ โดยคำนึงถึงปริมาณน้ำตาล ไขมัน คอเลสเตอรอล ฯลฯ ที่มีอยู่ในอาหารด้วย เพื่อป้องกันความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ และเพื่อให้มีสุขภาพที่แข็งแรง
แม้ว่าการที่ร่างกายเราได้รับโปแทสเซียมอย่างเพียงพอจะเป็นประโยชน์หลายอย่างต่อสุขภาพ แต่ยังมีข้อควรระวังในผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ มีความบกพร่องในการขจัดโปแทสเซียมออกจากร่างกาย เช่น ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง เบาหวานและภาวะหัวใจล้มเหลว ควรได้รับโปแทสเซียมน้อยกว่า 4.7 กรัมต่อวัน (ปริมาณเท่าใดที่จะเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนนั้น ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้ดูแล) เพื่อป้องกันภาวะการมีโปแทสเซียมที่มากเกินไป (hyperkalemia) ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
เอกสารอ้างอิง
Couch SC, Krummel DA. Medical Nutrition Therapy for Hypertension. In: Mahan LK, Escott-Stump S. Krause’s Food& Nutrition Therapy. 12th ed. Missouri: Saunders, 2008: 865-883.
McGill CR, Fulgoni VL, DiRienzo D, et al. Contribution of dairy products to dietary potassium intake in the United States population. Journal of the American College of Nutrition. 27(1); 2008, 44-50.
Ascherio A, Rimm EB, Hernan MA, et al. Intake of potassium, magnesium, calcium, and fiber and risk of stroke among US men. Circulation. 98; 1998, 1198-1204.
http://www.buzzle.com/articles/sources-of-potassium-in-foods.html (Accessed Aug 23, 2011)
http://www.healthaliciousness.com/articles/food-sources-of-potassium.php (Accessed Aug 23, 2011)
http://www.healthaliciousness.com/articles/high-potassium-fruits.php (Accessed Aug 23, 2011)
อ้างอิงบทความ