ผมเชื่อว่าทุกคนคงต้องเคยรับประทานปลามาแล้ว และปฏิเสธไม่ได้ว่าคนส่วนใหญ่ก็ชอบรับประทานปลาเพราะปลาเป็นเนื้อสัตว์ประเภทโปรตีนที่ย่อยง่าย มีคุณค่าครบถ้วน ราคาไม่แพง หาได้ง่ายและทำอาการกินได้หลากหลายชนิด ในปัจจุบันนักวิชาการทางโภชนาการก็สนับสนุนให้คนบริโภคปลากันมากๆ เพราะมีผลเสียน้อยกว่าเนื้อสัตว์ประเภทอื่นๆ
แต่ถ้าคุณเคยมีประสบการณ์ก้างปลาติดคอแล้ว คุณคงเข็ดไปอีกนานเพราะเวลาก้างปลาติดคอ มันแสนจะเจ็บคอและทรมานเหลือกำลัง เวลากลืนน้ำลายก็จะเจ็บเกือบทุกครั้งและเป็นความเจ็บที่มันแทงจี๊ดจนสุดบรรยายคล้ายกับตกนรกทั้งเป็น ผมเป็นแพทย์ หู คอ จมูก มากว่า 20 กว่าปี คีบก้างปลาออกจากคอคนไข้มานับไม่ถ้วน หลังคีบเสร็จผู้ป่วยจะรู้สึกขอบคุณและซาบซึ้งเหมือนได้หลุดออกมาจากขุมนรกเลย ดังนั้นในฉบับนี้ถ้าก้างปลาติดคอคุณ ควรจะทำอย่างไรดี เรามีคำแนะนำให้ปฏิบัติ คือ
1.
ดื่มน้ำตาม
น้ำจะช่วยพัดให้ก้างปลาหลุดได้ หรือถ้าอยู่ไม่ลึก เช่นบริเวณแถวลำคอส่วนบนและทอนซิล ก็ให้ใช้น้ำกลั้วในคออย่างแรงพอควร ไม่ใช่อมบ้วนปากนะครับ ต้องเงยหน้าขึ้นแล้วทำเสียงคร้อกๆ 3 - 4 ครั้ง แล้วบ้วนทิ้งทำดู 2 - 3 ครั้ง ถ้าก้างปักไม่ลึกก็จะหลุดออกมาได้
2.
ดื่มน้ำมะนาว
โดยใช้มะนาวสดๆคั้นประมาณ 1 -2 ช้อนโต๊ะ แล้วกินเข้าไปเลยเนื่องจากน้ำมะนาวมีฤทธิ์เป็นกรด อาจจะช่วยทำให้ก้างปลาอ่อนๆ นิ่มขึ้นได้บ้าง แล้วค่อยตามด้วยวิธีอื่นต่อไป แต่ที่บอกว่าใช้น้ำมะนาวจะทำให้ก้างละลายไปได้ ตามความเห็นของผม ไม่น่าจะเป็นไปได้เพราะก้างปลาเป็นกระดูกอย่างหนึ่ง ไม่ใช่จะละลายได้ง่ายๆ และคงไม่มียากินที่ละลายก้างได้ด้วย
3.
กลืนข้าวคำโตๆ
อาจจะเป็นข้าวเหนียวก็จะดีหน่อย แต่จะใช้ข้าวเจ้าก็ได้ ปั้นให้เป็นก้อนกลมมีขนาดเท่าประมาณลูกชิ้นลูกเล็กๆ กลืนลงไปทั้งก้อนเลย ไม่เคี้ยวนะครับเพราะเราหวังจะให้ก้อนข้าวช่วยดันก้างให้หลุดติดลงไปในท้อง
4.
ใช้นิ้วมือล้วง
โดยอาจจะเป็นนิ้วชี้และนิ้วโป้งเข้าไปจับแล้วคีบดึงออกมา แต่เหมาะสำหรับคนนิ้วเล็ก ที่สามารถเข้าไปในปากได้ลึกและผู้ป่วยไม่มี gag reflex คือถ้าเป็นพวกคอไว มี gag reflex สูง พออะไรถูกแถวบริเวณโคนลิ้นหรือคอก็จะรู้สึกขย้อน อาเจียนออกมา แบบนี้ก็ทำไม่ได้
5.
หรือถ้าอ้าปากแล้วเห็นก้างติดที่คอหรือต่อมทอนซิล
ก็สามารถใช้ไฟฉายส่องกบที่สวมติดกับศีรษะ อีกมือใช้ช้อนหรือแผ่นไม้กดลิ้นลง แล้วใช้คีบด้วยเครื่องมือหรือถ้าเป็นนักคีบตะเกียบมือฉบัง ก็สามารถเอาตะเกียบคีบออกมาได้
สุดท้ายเมื่อลองดูในทุกกระบวนท่าแล้วไม่สามารถจัดการได้ ก็คงต้องไปพบแพทย์โดยเฉพาะแพทย์ หู คอจมูก ซึ่งจะเป็นผู้จัดการกับปัญหาก้างปลาติดคอได้ดีที่สุด เมื่อมาถึงโรงพยาบาล แพทย์หูคอ จมูก จะซักประวัติถามวันเวลาที่เกิดเหตุ ลักษณะก้างที่คิดว่าจะเป็น ตำแหน่งที่เจ็บว่าอยู่ลึกเท่าไหร่ อยู่ข้างซ้ายหรือข้างขวา
แล้วก็มาถึงขั้นตอนสำคัญคือส่องตรวจดูว่าก้างติดอยู่ที่ใด โดยใช้ไฟสวมศีรษะที่มีแสงสว่างพอควร ใช้ไม้กดลิ้นและที่เขี่ยตรวจดูตามร่องตามหลีบต่างๆ หรือถ้าอยู่ลึก ก็ต้องใช้กระจกส่องตรวจ เข้าไปในกล่องเสียง ในปัจจุบันโรงพยาบาลส่วนใหญ่จะมีกล่องส่องตรวจพิเศษแบบหักมุม 70 - 90? ก็จะเห็นได้ชัดเจนและง่ายขึ้น
ถ้าก้างปลาติดอยู่เหนือกล่องเสียงหรือลูกกระเดือกขึ้นมา แพทย์หู คอ จมูก สามารถใช้เครื่องมือที่โค้งงอเป็นพิเศษคีบออกมาได้ แต่ถ้าติดอยู่ลึกกว่าลูกกระเดือกลงไป คงต้องใช้เอ็กซเรย์ช่วยตรวจด้วยครับ ความยากง่ายในการคีบขึ้นอยู่กับลักษณะก้างเล็กใหญ่เพียงใด ตำแหน่งของก้างปลาที่ติดว่าอยู่ลึก ซ่อนอยู่ในร่องลึกลับขนาดไหน มีเครื่องมือในการคีบที่พร้อมสมบูรณ์หลายแบบหลายมุมให้เลือกใช้ และสุดท้ายคือความร่วมมือของผู้ป่วยเพราะในผู้ป่วยบางคนที่คอไวจะคีบยากมาก เนื่องจากผู้ป่วยจะรู้สึกขย้อนอยากอาเจียน เพียงแค่แตะโคนลิ้น อาจจะต้องพ่นยาชาก่อน ทำให้ผู้ป่วยชา จะได้มี Reflex น้อยลง
เห็นไหมครับว่าเพียงก้างปลาเล็กๆนิดเดียว คุณอาจจะต้องพบกับปัญหาและวิธีการเอาออกหลายขั้นตอนได้ ดังนั้นเวลาทานปลาต้องระมัดระวังค่อยๆ ละเอียดทาน อย่ารีบเคี้ยวรีบกลืนเพราะท่านอาจจะปวดหัวกับก้างปลาติดคอได้ ผมขอบอก
คอลัมน์ คลินิกหู คอ จมูก
โดย นพ.ชัยยศ เด่นอริยะกูล
หัวหน้ากลุ่มงานโสต ศอ นาสิก โรงพยาบาลกลาง สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร
ข้อมูลจาก มติชนออนไลน์
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1412599178