นางพญาเสือโคร่ง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Prunus cerasoides, อังกฤษ: Wild Himalayan Cherry) เป็นพืชดอกในสกุล Prunus ออกดอกช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ พบทั่วไปบนภูเขาตั้งแต่ความสูง 1,200-2,400เมตรจากระดับน้ำทะเล เช่น ภูลมโล จังหวัดเลย, ดอยแม่สลอง จังหวัดเชียงราย, ดอยเวียงแหง ดอยอ่างขาง ขุนช่างเคี่ยน ขุนแม่ยะ จังหวัดเชียงใหม่, ขุนสถาน ดอยวาว ดอยภูคา มณีพฤกษ์[4] จังหวัดน่าน , ภูทับเบิก ภูหินร่องกล้า จังหวัดพิษณุโลก ฯลฯ โดยเป็นดอกไม้ประจำอำเภอเวียงแหง นางพญาเสือโคร่ง เป็นพรรณไม้ที่มีการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติอยู่ที่ตอนเหนือของประเทศไทย
นางพญาเสือโคร่ง ดอกสีชมพู (ขุนช่างเคี่ยน เชียงใหม่)
นางพญาเสือโคร่ง ดอกสีขาว (ขุนช่างเคี่ยน เชียงใหม่)
ในต่างประเทศ พบในประเทศ
พม่า รัฐฉานและรัฐคะฉิ่น, ประเทศอินเดียพบบนเทือกเขาหิมาลัย ในรัฐอรุณาจัลประเทศยาวไปจนถึงรัฐหิมาจัลประเทศทางตอนเหนือของอินเดีย หรือที่เรียกว่า Himalayas, ประเทศภูฏาน, ประเทศเนปาล และประเทศจีนพบในมณฑลยูนนาน
นางพญาเสือโคร่ง บนขุนช่างเคี่ยน จังหวัดเชียงใหม่
นางพญาเสือโคร่งบนเทือกเขาหิมาลัย ประเทศอินเดีย
นางพญาเสือโคร่งถูกนิยมเรียกว่า
"ซากุระเมืองไทย" เพราะมีลักษณะคล้ายซากุระในประเทศญี่ปุ่น แม้จะเป็นคนละชนิดกันก็ตาม
ซากุระในจังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น
ชื่อท้องถิ่น
ชื่อท้องถิ่นของนางพญาเสือโคร่ง เช่น ฉวีวรรณ, ชมพูภูพิงค์ (เหนือ) เส่คาแว่, เส่แผ่, แส่ลาแหล (กะเหรี่ยง เชียงใหม่) ซากุระดอย (เชียงใหม่) และได้รับฉายาว่า "ซากุระเมืองไทย" ในประเทศญี่ปุ่นจะเรียกดอกไม้พันธุ์นี้ว่า ヒマラヤザクラ(หิมาลายาซากุระ) หมายถึงซากุระจากหิมาลัย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
เมล็ดต้นนางพญาเสือโคร่ง
นางพญาเสือโคร่งเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ ขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 10-15 เมตร ใบ เป็นชนิดใบเดี่ยว ลักษณะรูปรีแบบไข่ หรือไข่กลับ ออกสลับกัน ใบมีความกว้าง 3-5 เซนติเมตร ยาว 5 -12 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม โคนใบกลมหรือสอบแคบ ขอบจักปลายก้านใบมีต่อม 2-4 ต่อม หูใบแตกแขนงคล้ายเขากวาง ใบร่วงง่าย ดอก สีขาว ชมพู หรือแดง ออกเป็นช่อกระจุกใกล้ปลายกิ่ง ก้านดอกยาว 0.7-2 เซนติเมตร ขอบริ้วประดับจักไม่เป็นระเบียบ กลีบเลี้ยงติดกันเป็นรูปกรวย กลีบดอกมี 5 กลีบ เมื่อบานขนาดโตเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 เซนติเมตร ผล รูปไข่หรือกลม ยาว 1-1.5 เซนติเมตร เมื่อสุกสีแดง ระยะเวลาออกดอกระหว่างเดือนธันวาคมจนถึงกุมภาพันธ์ โดยจะทิ้งใบก่อนออกดอก
ผลของนางพญาเสือโคร่งสามารถนำมารับประทานได้ มีรสเปรี้ยว ส่วนเนื้อไม้และการใช้ประโยชน์ ด้านอื่นยังไม่มีการบันทึกข้อมูลไว้ นอกจากการนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ เนื่องจากมีดอกสวยงาม
การปลูกเลี้ยง ได้มีการปลูกนางพญาเสือโคร่งบนพื้นที่ต้นน้ำลำธารมาเป็นเวลา 10 ปี แล้วปรากฏว่าได้ผลดี เป็นไม้ที่มีความเหมาะสมในการที่จะขึ้นอยู่ในพื้นที่ผ่านการทำไร่เลื่อนลอย บนพื้นที่สูงแต่ไม่ควรปลูกบนพื้นที่ซึ่งมีลมพัดจะทำให้กิ่งก้านหักได้ง่าย ขยายพันธุ์โดยเมล็ด
นางพญาเสือโคร่งและซากุระ
คำว่า ซากุระกล่าวถึงพืชที่อยู่ในสกุล Prunus โดยนางพญาเสือโคร่งเป็นหนึ่งในสกุลนั้น โดยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Prunus cerasoides ขณะที่ในประเทศญี่ปุ่นมีซากุระอยู่หลากหลายพันธุ์ โดยพันธุ์ที่พบมากสุดคือ โซะเมโยะชิโนะ (ญี่ปุ่น: 染井吉野 somei-yoshino ?) ในชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Prunus × yedoensis
นางพญาเสือโคร่งแตกต่างจากซะกุระญี่ปุ่นคือมีช่วงเวลาการออกดอกต่างกันคือ นางพญาเสือโคร่งออกดอกในเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาว ส่วนซากุระในญี่ปุ่นออกดอกช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งเป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิของญี่ปุ่น และมีการสันนิษฐานว่า นางพญาเสือโคร่งและซากุระมีบรรพบุรุษร่วมกันทางตอนใต้ของจีน และวิวัฒนาการออกไปจนมีสายพันธุ์มากมาย มีสีที่หลากหลาย
การจำแนกสายพันธุ์อย่างกว้าง นางพญาเสือโคร่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Wild Himalayan Cherry หมายถึง Prunus ที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียทางตอนใต้ ตั้งแต่ประเทศไทยไปจนถึงเทือกเขาหิมาลัยในประเทศอินเดีย ส่วนซากุระถูกจำแนกเป็น Cherry blossom หมายถึง Prunus ที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียทางตอนเหนือ ตั้งแต่ประเทศจีน, เกาหลี ไปจนถึงประเทศญี่ปุ่นและรัสเซียในเขตไซบีเรีย
ข้อมูลจาก
http://th.wikipedia.org/wiki/นางพญาเสือโคร่ง
รูปประกอบ
http://ringmak.blogspot.com/