มาถึงการตีแผ่ปัญหาการก่อสร้างท่าเรือเกาะเสม็ดในมุมมองของฝ่ายอุทยานเป็นวันที่สอง
นายเริงชัย ประยูรเวช รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ให้คำชี้แจงเกี่ยวกับการมีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดทำโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือเกาะเสม็ดของอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ที่ทำไว้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง เป็นเพียงข้อตกลงเบื้องต้นที่จะดำเนินการภายใต้ระเบียบและข้อกฎหมายให้ถูกต้อง โดยจะไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ไม่ได้หมายความว่าท่าเทียบเรือดังกล่าวได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างได้
ยังคงต้องเสนอแบบแปลนรายละเอียดโครงการ รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้อธิบดีกรมอุทยานแห่ชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พิจารณา ซึ่งปรากฏว่าโครงการก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือเกาะเสม็ดยังไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรี แต่ดำเนินการก่อสร้างไปโดยไม่ได้รับอนุมัติจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่มีหน้าที่ในการดูแลพื้นที่อุทยานแห่งชาติ
กรณีองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง เห็นว่า ได้รับการอนุญาตจากสำนักงานธนารักษ์พื้นที่ระยอง และสำนักงานขนส่งทางน้ำที่ 6 สาขาระยองแล้ว กรณีนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า พื้นที่ที่ซ้อน–ทับจะต้องขอความเห็นชอบจากส่วนราชการที่มีอำนาจหน้าที่ทางกฎหมายและดำเนินการเท่าที่กฎหมายไม่ขัดกัน
ท่าเทียบเรือดังกล่าว จึงดำเนินการไม่ถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมาย จะต้องได้รับการอนุมัติจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชด้วย
โครงการดังกล่าวดำเนินการก่อสร้างไปโดยยังไม่ได้มีการเสนอ EIA หรือ IEE ให้หน่วยงานใดพิจารณา ทั้งที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ได้แจ้งให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยองดำเนินการ ตั้งแต่เริ่มโครงการมาโดยตลอด
อีกทั้งอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ได้มีหนังสือถึงผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเพ ให้ลงบันทึกประจำวันไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการปฏิบัติงานว่าได้แจ้งให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยองให้จัดทำ EIA และได้แจ้งผู้รับจ้างหยุดดำเนินการไว้ก่อนจนกว่าจะได้รับการอนุมัติจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แต่องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง ก็ยังคงดำเนินการต่อไป
ดังนั้น เพื่อมิให้เป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อสังคม โดยที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นส่วนราชการที่มีหน้าที่ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ที่รับผิดชอบ มิได้ขัดขวางความต้องการของประชาชนและนักท่องเที่ยว
แต่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนให้ถูกต้องตามระเบียบกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรี การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม จะช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ทั้งก่อนการก่อสร้าง ระหว่างการก่อสร้าง และภายหลังการก่อสร้าง ที่จะมีการเข้าใช้ประโยชน์จากท่าเทียบเรือ
จึงเป็นเครื่องมือที่จำเป็นที่สิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่จะต้องดำเนินการจัดทำไว้ในโครงการ
เรื่องนี้จะลงเอยอย่างไรยังยากที่จะคาดคิด ขอเพียงอย่างเดียวให้ทุกฝ่ายที่เป็นภาครัฐด้วยกันทั้งนั้น หันหน้าเข้ามาหากัน ร่วมกันแก้ปัญหาด้วยท่าทีที่เป็นมิตร มิใช่การอวดศักดาเข้าใส่กัน.
“ซี.12”
ข้อมูลจาก thairath.co.th โดย ซี.12
19 ตุลาคม 2555, 05:00 น.