ใครๆ ก็คงไม่อยากเป็นผู้สูงวัยกันใช่ไหมครับ ยิ่งปัญหาสุขภาพกับผู้สูงอายุดูเป็นสิ่งที่คู่กันที่ใครก็อย่าหลีกเลี่ยง เรามารู้จักผู้สูงอายุกับปัญหาสุขภาพกันดีไหม เพื่อจะได้หาวิธีป้องกันหรือลดปัญหาสุขภาพในผู้สูงอายุ ก่อนอื่นมาทำความรู้จักคำว่า “ผู้สูงอายุ” ก่อน พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 บัญญัติไว้ว่า ผู้สูงอายุ คือ บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งสอดคล้องกับที่บัญญัติไว้โดยองค์การสหประชาชาติ (United Nation, UN 2007) แต่สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา ประเทศในแถบยุโรปและญี่ปุ่น มักจะถือเอาเกณฑ์อายุ 65 ปีขึ้นไป และใช้เป็นเกณฑ์การเกษียณอายุ ปัจจุบันมีหลายประเทศมีแนวโน้มเพิ่มอายุเกษียณจาก 65 ปีขึ้นไป
ในสถานการณ์ปัจจุบันโลกมีแนวโน้มเข้าสู่โลกของผู้สูงอายุ โดยในปี ค.ศ. 2014 ที่ผ่านมา ประชากรผู้สูงอายุตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไปทั่วโลก มีสูงถึง 868 ล้านคน คิดเป็น 12.06% ของประชากรทั้งหมด ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 10.2 ล้านคน คิดเป็น 15.20% ของประชากรไทย และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นทุกปี ตัวเลขในปี ค.ศ. 2013 ประเทศญี่ปุ่นมีประชากรผู้สูงอายุมากที่สุด (32%) และประเทศไทยอยู่อันดับที่ 63 ของโลก (14.3%) จากสถานการณ์การเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุ องค์การอนามัยโลก (WHO) และหลายประเทศทั่วโลกจึงได้มีนโยบายหลายประการเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ซึ่งสามารถสรุปได้เป็น 3 ข้อหลักๆ คือ
การจัดให้มีเงินสวัสดิการ หรือเบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุการจัดให้มีงานแก่ผู้สูงอายุที่ยังต้องการทำงาน การมีความชอบธรรม สิทธิและอิสรภาพ ในการรับบริการด้านสาธารณสุข
ด้วยปัญหาสุขภาพที่มีมากขึ้นตามวัย จึงมีโรคหลายชนิดที่สัมพันธ์กับวัยที่สูงขึ้น (Aging-associated diseases) ซึ่งโรคที่พบบ่อยได้แก่
1) โรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมชนิดอื่นๆ
2) โรคเบาหวานโดยเฉพาะเบาหวานชนิดที่ 2
3) โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
4) ความดันโลหิตสูง
5) ต่อมลูกหมากโต
6) ปัญหาเกี่ยวกับสายตาและการมองเห็น
7) โรคข้อและกระดูก
8) มะเร็ง
และ 9) อาการซึมเศร้า ซึ่งจะเห็นได้ว่าโรคที่พบในผู้สูงอายุ จัดเป็นโรคที่ไม่ติดต่อ หรือที่เรารู้จักกันในอีกชื่อว่า NCD (Noncommunicable Diseases) ซึ่งโรคนี้เป็นสาเหตุการตายสูงสุดของผู้สูงอายุ มากกว่าโรคติดต่อหรืออุบัติเหตุร่วมกันเสียอีก ซึ่งปัญหาโรค NCD เป็นปัญหาและภาระอันหนักหน่วงของสาธารณสุขทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย จากข้อมูลงานวิจัยองค์การอนามัยโลก ผลการสำรวจจาก 23 ประเทศ ในช่วงปี ค.ศ. 2006-2015 คาดการณ์ว่า การสูญเสียทางเศรษฐกิจจากโรค NCD มีมูลค่ารวมมากกว่า 83 พันล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นจำนวนเงินมหาศาล
ดังนั้นการลดปัจจัยเสี่ยงอันเป็นสาเหตุนำพาให้เกิดโรค NCD จึงมีความสำคัญมาก ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรค NCD ในผู้สูงอายุได้แก่ การสูบบุหรี่ การทานอาหารที่ไม่ถูกสุขภาพ ภาวะเฉื่อยหรือการขาดการออกกำลังกาย และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
จะเห็นว่าโลกก้าวเข้าสู่โลกผู้สูงอายุอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โรคที่สัมพันธ์กับอายุที่สูงขึ้นมีประเด็นหลักคือโรค NCD ซึ่งโรคเหล่านี้สามารถแก้หรือลดความรุนแรงได้ โดยการลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ การที่ผู้สูงอายุได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ได้ทานอาหารที่ถูกสุขภาพ มีการออกกำลังกาย งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และบุหรี่ สิ่งเหล่านี้จะทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ด้วยสุขภาพที่อาจเสื่อมโทรมไปตามวัย ผู้สูงอายุจำนวนมากจึงใช้วิตามินและอาหารเสริม ทั้งที่อาจมาตามใบสั่งแพทย์หรือนำมาใช้เอง สาเหตุที่ผู้สูงอายุจำเป็นต้องใช้วิตามินหรืออาหารเสริมมากกว่าคนวัยอื่นๆ อาจเนื่องมาจากปัญหาด้านการทานอาหารที่น้อยลงและไม่ได้คุณค่าครบถ้วน ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากสาเหตุการเคี้ยวอาหารและการกลืนอาหาร ปัญหาสุขภาพฟัน การสูญเสียการรับรสและการดมกลิ่น ความยากลำบากในการจัดหาอาหารที่ถูกสุขภาพ ปัญหาด้านการเงิน และปัญหาสุขภาพอื่นๆ ด้วยเหตุนี้จึงจะเห็นได้ว่าผู้สูงอายุต้องการวิตามินและสารอาหารเสริมสุขภาพเพื่อ
1. ทดแทนอาหารที่จำเป็นที่ขาดหายไป อันเนื่องมาจากต้องทานในปริมาณที่สูง
2. ใช้ป้องกันหรือลดความเสี่ยงจากโรคหรืออาการต่างๆ
3. เพิ่มระบบภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย
4. ให้พลังงานหรือความกระฉับกระเฉงแก่ร่างกาย
5. เพิ่มประสิทธิภาพของสมองและการทำงานของร่างกาย
6. เพื่อลดปัญหาโรคหรืออาการต่างๆ
7. ใช้เพื่อควบคุมน้ำหนัก หรือช่วยในระบบการขับถ่าย
เมื่ออาหารเสริมและวิตามินมีความจำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ การใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้อย่างถูกต้องและให้มีประสิทธิภาพดี จึงมีความจำเป็นอย่างมากสำหรับผู้สูงอายุ วิธีที่ระบุไว้ข้างล่างจึงถือเป็นสิ่งที่ควรคำนึงก่อนใช้วิตามินและอาหารเสริม
1. อาหารเสริมและวิตามินไม่สามารถชดเชยคุณค่าอาหารจากธรรมชาติได้ทั้งหมด เช่น คุณค่าอาหารจากผักสด ผลไม้ และธัญพืช คุณก็ยังต้องพยายามทานอาหารที่มีคุณภาพให้ได้มากที่สุด
2. ห้ามใช้วิตามินและอาหารเสริมแทนยา ผู้ป่วยก็ยังต้องทานยาตามที่กำหนดไว้ ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร
3. การใช้อาหารเสริมและวิตามินแต่ละชนิด ต้องพิจารณาสุขภาพของแต่ละบุคคลด้วย
4. ต้องระวังผลข้างเคียงจากอาหารเสริมและวิตามิน
5. การทานอาหารเสริมและวิตามินที่มากเกินไป ไม่ใช่ว่าจะดีเสมอไป ควรทานเท่าที่จำเป็น
6. หลีกเลี่ยงการใช้อาหารเสริมและวิตามินเป็นระยะเวลานาน
7. ควรใช้อาหารเสริมและวิตามินอย่างชาญฉลาด
8. อย่าลืมศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับ วิตามิน และอาหารเสริมของคุณตลอดเวลา
เมื่ออาหารเสริมและวิตามินมีความจำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ เชื่อว่าข้อแนะนำ 8 ประการดังกล่าวข้างต้นไม่ใช่เป็นประโยชน์กับผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ก็สามารถใช้กับทุกวัยได้ ดังนั้นขอให้ท่านใช้อาหารเสริมและวิตามินอย่างฉลาด แล้วคุณจะมีสุขภาพดีกว่าคนในวัยเดียวกัน
เอกสารอ้างอิง
กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546, เทพเพ็ญวานิส กรุงเทพฯ, 2553; 1-13.
World Health Organization, Definition of an older or elderly person,
http://www.who.int/healthinfo/survey/ageingdefnolder/en/.
Center for disease control and prevention, Identifying vulnerable older adults and legal options for increasing their protection during all-hazards emergencies, 2012; 3-24.
กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ. 2546.
European Food Safety Authority and Health & consumer protection directorate-general; European commission.
Food and Nutrition board, Institute of medicine, national academic, Dietary Reference Intakes (DRIs),
http://www.nap.edu/.
โดย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกร ดร. วิเชษฐ์ ลีลามานิตย์
ภาควิชาชีวเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล