ข้าวกล้องไทยป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
(Unpolished Thai Rice Prevent Colorectal Cancer)
มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (Colorectal cancer) เป็นมะเร็งที่มีอุบัติการณ์เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในประชากรไทย จากข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ (National Cancer Institute) พบว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักมีอุบัติการณ์การเกิดเป็นอันดับ 1 ในประชากรเพศชาย และอันดับ 3 ในเพศหญิงของไทย สาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งชนิดนี้แบ่งได้เป็น 2 ปัจจัยสำคัญหลัก ปัจจัยแรกมีสาเหตุจาก
ความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ทำให้เกิดติ่งเนื้อจำนวนมากในผนังลำไส้ (Familial adenomatous polyposis, FAP) ความผิดปกติทางพันธุกรรมแบบนี้มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีประวัติการตรวจพบ FAP
อีกปัจจัยสำคัญของเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักคือ
จากภาวะสิ่งแวดล้อม พบว่ามะเร็งชนิดนี้มีความสัมพันธ์กับปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่ไม่เกี่ยวกับความผิดปกติทางพันธุกรรม สูงถึงมากกว่าร้อยละ 90 โดยสาเหตุสำคัญมาจากเรื่องอาหารการกิน มีรายงานการวิจัยทางวิทยาศาสตร์พบว่า การบริโภคพืช ผัก ผลไม้ ที่มีองค์ประกอบของสารพฤกษเคมี โดยเฉพาะกลุ่มฟีนอลิก มีความสัมพันธ์ในการลดอัตราการเกิดมะเร็งหลายชนิด รวมทั้งมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และมีรายงานว่ากลุ่มหนูทดลองที่ได้รับสารก่อมะเร็งไปพร้อมๆ กับสารประเภทไขมัน จะพบก้อนมะเร็งในลำไส้ใหญ่และทวารหนักมากกว่ากลุ่มหนูทดลองที่ได้รับเฉพาะสารก่อมะเร็งเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ภาวะเครียดออกซิเดชั่น (Oxidative stress) ก็มีส่วนสำคัญในการทำให้เกิดมะเร็ง โดยภาวะเครียดออกซิเดชั่นทำให้สารชีวโมเลกุลที่สำคัญในร่างกาย เช่น ดีเอ็นเอ (DNA) โปรตีน (Proteins) และลิพิด (Lipids) เกิดความเสียหาย และเสียสมดุลในการทำหน้าที่ ความเสียหายดังกล่าวส่งผลให้เซลล์ได้รับบาดเจ็บและเกิดความผิดปกติขึ้น โดยเฉพาะความผิดปกติในระดับยีนที่มีหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์ ส่งผลให้เซลล์มีการแบ่งตัวแบบควบคุมไม่ได้ และเกิดเป็นก้อนมะเร็งในที่สุด
จากนิสัยการบริโภคของคนไทยในปัจจุบันที่เลือกรับประทานอาหารประเภทผัก ผลไม้ หรืออาหารที่มีกากใยธรรมชาติลดลง อีกทั้งค่านิยมที่รับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์และไขมันเพิ่มสูงขึ้น กอปรกับวิถีชีวิตที่เคร่งเครียดและเร่งรีบในการทำงาน จนทำให้ขาดความใส่ใจเรื่องคุณประโยชน์ของอาหารที่รับประทาน ส่งผลให้คนไทยต้องพบความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักสูงขึ้น ข้าวกล้องไทยรงควัตถุสีแดงและสีดำเป็นแหล่งสำคัญของสารกลุ่มฟีนอลิก สารพฤกษเคมีดังกล่าวมีคุณสมบัติในการทำหน้าที่ป้องกันภาวะเครียดออกซิเดชั่นและลดการเกิดมะเร็ง มีรายงานทางวิทยาศาสตร์พบว่า กลุ่มหนูทดลองที่กินข้าวกล้องไทย สามารถลดภาวะเครียดออกซิเดชั่นและลดการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับกลุ่มทดลองที่ไม่ได้กินข้าวกล้องไทย ดังนั้นข้าวกล้องไทยจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักได้ เพราะนอกจากกากใยธรรมชาติแล้ว ข้าวกล้องไทยยังมีสารพฤกษเคมีกลุ่มฟีนอลิกที่มีคุณสมบัติสำคัญในการลดภาวะเครียดออกซิเดชั่น และลดการเกิดมะเร็งลงได้ตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ทั้งเชิงสำรวจ และการทดลองในห้องปฏิบัติการ การสนับสนุนให้คนไทยบริโภคข้าวกล้องไทย โดยเฉพาะสายพันธุ์ ที่มีรงควัตถุสีแดงและดำ พร้อมกับพฤติกรรมการลดอาหารที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดอุบัติการณ์ของมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักในประชากรไทยได้
เอกสารอ้างอิง
Achiraya Tammasakchai, Sareeya Reungpatthanaphong, Chaiyavat Chaiyasut, Sirichet Rattanachitthawat, Prasit Suwannalert. The red strain of Oryza sativa-unpolished Thai rice prevents oxidative stress and colorectal aberrant crypt foci (ACF) formation in rats. Asian Pacific Journal of Cancer Prevention. 2012; 13: 1929-1933. (PubMed)
Denise G. Priolli, Thamy P. Canelloi, Camila O. Lopes, Júlio C. M. Valdívia, Natalia P. Martinez,
Demetrius P. Açari, Izilda A. Cardinalli,
Marcelo L. Ribeiro. Oxidative DNA damage and β-catenin expression in colorectal cancer evolution. International Journal of Colorectal Disease. 2013; 28: 713–722. (PubMed)
Vinay Kumar, Abul K. Abbas, Jon C. Aster. Colonic Polyps and Neoplastic Disease. Robbins Basic Pathology. 2013; 9th Edition: 595-600.
โดย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ
ภาควิชาพยาธิชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
http://www.sc.mahidol.ac.th/usr/?p=329