"มะเร็ง" ถือเป็นภัยสุขภาพที่น่ากลัว เห็นได้จากข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า จัดเป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตคนไทยมากเป็นอันดับ 1 รองจากอุบัติเหตุ และโรคหัวใจ โดยในแต่ละปีจะพบคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งถึงปีละประมาณ 67,000 คน และพบผู้ป่วยรายใหม่ปีละประมาณ 120,000 คน
เกิดคำถามว่าเพราะเหตุใดคนไทยป่วยเป็นมะเร็งมากขึ้น และมีวิธีใดที่จะป้องกันภัยเงียบดังกล่าวได้หรือไม่
"นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ" ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ให้ข้อมูลว่า สถานการณ์โรคมะเร็ง ณ ขณะนี้ พบได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง และในทุกกลุ่มอายุ โดยอุบัติการณ์ทั้งเพศชายและเพศหญิงไม่แตกต่างกันมากนัก เฉลี่ยพบได้ใน 2 กลุ่ม ประมาณ 50,000-60,000 คนต่อปี โดยรวมทั้ง 2 กลุ่ม จะพบมากในมะเร็ง 5 ชนิด โดย 5 อันดับแรก คือ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก
โดยในเพศชาย มะเร็งที่พบมาก 5 อันดับแรก คือ
1.มะเร็งตับและท่อน้ำดี
2.มะเร็งปอด
3.มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
4.มะเร็งต่อมลูกหมาก
5.มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
ส่วนเพศหญิง มะเร็งที่พบมาก 5 อันดับแรก คือ
1.มะเร็งเต้านม
2.มะเร็งปากมดลูก
3.มะเร็งตับ
4.มะเร็งปอด
5.มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
หลายคนถามว่าแล้วเพราะเหตุใดถึงป่วยเป็นมะเร็งแต่ละชนิดมากขนาดนี้ นพ.วีรวุฒิบอกว่า ปัญหาเรื่องโรคมะเร็ง เป็นปัญหายากที่จะแก้ไข เมื่อเทียบกับปัญหาโรคอื่นๆ ที่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่มะเร็งส่วนหนึ่งไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง ส่วนที่ทราบสาเหตุก็มีหลายปัจจัยร่วม แต่มี
3 ปัจจัยสำคัญที่อาจก่อโรค คือ 1.พันธุกรรม พบประมาณร้อยละ 5-10 กล่าวคือ มีประวัติบุคคลในครอบครัวป่วยด้วยโรคมะเร็ง
2.เรื่องของพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่างๆ โดยเฉพาะการบริโภค การใช้ชีวิต
3.สิ่งแวดล้อม มีทั้งที่ควบคุมได้ และควบคุมไม่ได้ เช่น อยู่ในสถานที่หรือพักอาศัยในแหล่งมลพิษ ควันพิษต่างๆ เป็นต้น
"ยิ่งปัจจุบันพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไปหมด ทั้งการบริโภค ความเป็นอยู่ ยิ่งมีโอกาสเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หรือแม้แต่การบริโภคอาหารฟาสต์ฟู้ด ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงได้ เพราะมีไขมันสูง ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโรคอ้วน และอาจนำไปสู่การเป็นมะเร็งบางชนิด ทั้งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก หรือแม้แต่มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข ซึ่งเกี่ยวข้องกับภาวะน้ำหนักเกิน หรือฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไป ซึ่งยังไม่นับรวมพวกโรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต พวกโรคเรื้อรังต่างๆ อีก" นพ.วีรวุฒิกล่าว
สำหรับการดูแลตัวเองให้ห่างไกลโรคนั้น ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งฯแนะว่า จำง่ายๆ คือ "5 ทำ 5 ไม่ ห่างไกลโรคมะเร็ง" โดย "5 ทำ" คือ
1.ออกกำลังกายเป็นนิจ สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที
2.ทำจิตแจ่มใส
3.กินผักผลไม้ให้ได้ครึ่งหนึ่งของอาหาร
4.กินอาหารหลากหลาย
5.ตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี
ส่วน "5 ไม่" คือ
1.ไม่สูบบุหรี่
2.ไม่มีเซ็กซ์มั่ว
3.ไม่มัวเมาสุรา
4.ไม่ตากแดดจ้า
5.ไม่กินปลาน้ำจืดดิบ จริงๆ ยังมีสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงอีกมากเช่น ไม่กินน้ำมันทอดซ้ำ ไม่กินเนื้อสัตว์หมักดอง ไม่กินปิ้งย่างไหม้เกรียม เป็นต้น
ส่วนการตากแดดเสี่ยงมะเร็งนั้น เนื่องจากปัจจุบันรังสียูวี กระทบผิวหนังมากขึ้น เมื่อก่อนตากแดดไม่ค่อยแสบผิว แต่ปัจจุบันนี้แสบร้อนผิวไปหมด หากตากแดดมาก ก็มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนังได้ แต่ส่วนใหญ่มะเร็งผิวหนังมักพบในกลุ่มชาวตะวันตก ไทยไม่ค่อยพบมากนัก แต่ไม่ใช่ว่าประมาท ทางที่ดีที่สุดควรหลีกเลี่ยงการตากแดดจ้านานๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าห้ามรับแสงแดดเลย โดยช่วงเวลาที่ควรได้รับแสงแดด คือ ช่วงเช้า กับช่วงเย็น อย่างน้อยครึ่งชั่วโมง โดยควรรับแสงแดดอ่อนๆ
เมื่อถามว่า เพราะเหตุใด บางคนดูแลสุขภาพเป็นอย่างดียังป่วยได้ นพ.วีรวุฒิอธิบายว่า หลายคนอาจทำตาม 5 ทำ แต่ในข้อสุดท้าย คือ หมั่นตรวจสุขภาพตรวจร่างกายเป็นประจำ มีการปฏิบัติด้วยหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่คนที่ดูแลสุขภาพดีมักมองว่าตัวเองไม่เสี่ยง ประกอบกับหลายคนมักคิดว่า ไม่มีเวลา กลัวสิ้นเปลือง กลัวเจ็บ ทั้งๆ ที่หากตรวจพบโรคเร็วจะยิ่งรักษาได้ ขณะที่กลุ่มที่ไม่ค่อยดูแลสุขภาพ ใช้ชีวิตกิน เที่ยว แต่อาจใส่ใจตรวจร่างกายตัวเอง ก็จะทำให้มีโอกาสรักษาได้เร็วในกรณีที่พบโรคมะเร็งนั่นเอง
หลายคนตรวจสุขภาพไม่เจอ อาจเพราะเป็นการตรวจสุขภาพทั่วไป เป็นเรื่องการเจาะเลือดดูน้ำตาล ไขมัน แต่การตรวจคัดกรองมะเร็งจะละเอียดมากขึ้น โดยจะมีการซักประวัติ และดูความเสี่ยงต่อการป่วย เพศชายเพศหญิง ก็จะมีแพทย์เฉพาะทางตรวจคัดกรอง ซึ่งจะทำให้จำเพาะมากกว่าการตรวจสุขภาพทั่วไป โดยไม่จำเป็นต้องมาตรวจที่สถาบันมะเร็งฯเท่านั้น แต่สามารถไปตรวจได้ในโรงพยาบาลอื่นๆ ยิ่งในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ปัจจุบันมีศักยภาพในการตรวจคัดกรองมะเร็งอยู่แล้ว ซึ่งในสถาบันมะเร็งนั้น เปิดบริการตรวจคัดกรองด้านนี้มานาน ค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่ 2,000 บาทขึ้นไป แล้วแต่การตรวจ ขึ้นอยู่กับความเสี่ยง อายุ เพศ ฯลฯ
ทั้งนี้ หากตรวจคัดกรองมะเร็ง เจอโรคเร็วก็จะรักษาได้เร็วขึ้น แต่ที่น่ากังวลคือ ผู้ป่วยหลายคนด้วยความที่เข้าถึงเทคโนโลยีง่ายขึ้น ทั้งอินเตอร์เน็ต สื่อต่างๆ อาจมีการโฆษณาช่องทางการรักษาต่างๆ อย่างเห็นได้ชัด คือ การรักษาด้วยการฝังแร่ ซึ่งจริงๆ เป็นเทคโนโลยีที่ใช้กันมานานเป็น 10 ปี การรักษาจะเฉพาะมะเร็งบางชนิด อย่างต่อมลูกหมากบางจุด ซึ่งการฝังแร่ก็จะมีจำนวนไม่มากตามแพทย์วินิจฉัย แต่จีนเยอะมาก และการโฆษณาก็อาศัยช่องโหว่ทางกฎหมาย เปิดบริการที่จีน แต่มีการเปิดบริษัทให้ข้อมูลและจัดส่งผู้ป่วยไป ตรงนี้กลายเป็นปัญหา และเกิดเป็นข่าวขึ้น
ดังนั้น หากสงสัยหรือต้องการสอบถามติดต่อมาได้ที่สถาบันมะเร็งและในเร็วๆ นี้ จะมีการเปิดตัวแอพพลิเคชั่น "รู้ทันโรคมะเร็ง" จะใช้ได้ทั้งเอนดรอย์ และระบบไอโอเอส โดยคาดว่าจะเปิดตัวได้ภายใน 1-2 เดือนนี้ ซึ่งแอพพลิเคชั่นนี้จะให้ความรู้ประชาชนทั้งชนิดมะเร็ง การรักษา เทคโนโลยีต่างๆ รวมทั้งวิธีการปฏิบัติ เป็นต้น
อยากรู้รายละเอียดการป้องกันโรคมะเร็ง ติดตาม นพ.วีรวุฒิจะมาให้ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งอย่างละเอียด ภายในงานเฮลท์แคร์ 2015 "สู้มะเร็งคนเมือง" ระหว่างวันที่
11-14 มิถุนายนนี้ ที่เพลนารี ฮอลล์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ข้อมูลจาก มติชนออนไลน์ (ที่มา:มติชนรายวัน 11 มิ.ย.2558)