คำนำ
น้ำเมือกที่ปกคลุมตัวหอยทาก (Snail Helix Aspersa) มีคุณสมบัติมากมายซ้อนอยู่ มีการนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ เพื่อลดอาการอักเสบของผิวหนัง
นักวิทยาศาสตร์ได้ให้ความสนใจการการเคลื่อนที่ของหอยทากในธรรมชาติ การเคลือบคลานของตัวหอยทากบนพื้นดินหรือพื้นหินที่ขรุขระและหยาบโดยไม่ทำให้หอยทากบาดเจ็บแม้แต่น้อย และยังสามารถต้านฝุ่นละอองและเชื้อจุลินทรีย์ในสภาวะต่างๆได้ด้วย
ในปี ค.ศ.1959 นักวิทยาศาสตร์ ทำการวิจัยผนังของตัวหอยทาก และพบองค์ประกอบของ คอลลาเจน และมิวโคโพลีแซคคาไลด์ ซึ่งอุดมไปด้วยอมิโนแอซิด เช่น ไกลซิน โปรลีน และ กลูตามิคแอซิด ต่อมาในปี 2006 องค์ประกอบดังกล่าวถูกค้นพบว่าเป็นส่วนประกอบสำคัญของการรักษาแผลอักเสบของผิวหนัง นอกจากนั้นยังพบว่า มีการพัฒนาเป็นยาน้ำเชื่อมผสมน้ำเมือกหอยทากเพื่อเคลือบและรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร และเมื่องานวิจัยได้แพร่ออกไป มีผู้คนสนใจการบริโภคหอยทากเป็นๆมีชีวิต เพื่อให้ตัวหอยหลั่งน้ำเมือกสดในกระเพาะอาหารเพื่อต้องการประโยชน์ของการรักษาอีกด้วย
น้ำเมือกหอยทาก
ปี ค.ศ.2003 นักวิทยาศาสตร์ (JM Pawlicki et) วิจัยองค์ประกอบน้ำเมือกหอยทาก พบว่ามีทั้งส่วนที่ทำหน้าที่เป็นกาวเหนียวเพื่อให้ขาและตัวหอยได้ยึดเกาะแน่นเมื่อคลานหรือไต่ไปตามที่สูงชัน และองค์ประกอบอีกส่วนที่ไม่มีคุณสมบัติเป็นกาว น้ำเมือกที่หลั่งจากส่วนหาง จะประกอบด้วย น้ำ 95% มีคุณสมบัติเป็นสารหล่อลื่นและปกป้องโดยเคลือบตัวหอยทากเพื่อไม่ให้บาดเจ็บในทุกพื้นผิว องค์ประกอบส่วนที่เป็นกาวเหนียว เมื่อนำมาวิจัย พบว่าประกอบไปด้วยโปรตีนชนิด "glue proteins" ที่เข้มข้น ซึ่งโปรตีนชนิดนี้นับว่าสำคัญในการใช้ประโยชน์ทางการรักษาในปัจจุบัน
องค์ประกอบทางเคมี
การนำน้ำเมือกหอยทากมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ จึงไม่ใช่ของใหม่ ปี ค.ศ. 1980 ชาวนา ชิลี ซึ่งมีอาชีพเลี้ยงหอยทากส่งภัตตาคารที่ฝรั่งเศส พบโดยบังเอิญว่า มือของเค้านุ่มและลื่นขึ้นอย่างมากจากการที่ต้องจับและสัมผัสตัวหอยทากทุกวัน และสังเกตุว่าถ้ามีบาดแผลที่มือ จะหายอย่างรวดเร็วโดยไม่อักเสบ จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้นักวิทยาศาสตร์การแพทย์และเครื่องสำอางทำการศึกษาวิจัยน้ำเมือกหอยทากอย่างจริงจัง
สารสกัดจากน้ำเมือกหอยทาก ประกอบไปด้วย:
* อลันโทอิน (Alantoin) เป็นสารที่ช่วยสนับสนุนและเร่งการแบ่งเซล ช่วยในเรื่องสมานแผลได้ดี
* คอลลาเจน (Collagen)
* อีลาสติน (Elastin)
* สารปฏิชีวนะธรรมชาติ (natural antibiotics) ซึ่งจะช่วยต้านเชื้อจุลินทรีย์ทุกชนิด
* ไกลโคลิคแอซิด (Glycolic acid) เป็นสารสำคัญที่สารมารถแทรกซึมเข้าชั้นผิวหนังได้ดี ช่วยเร่งการสังเคราะห์คอลลาเจนในชั้นผิวหนัง
ประโยชน์ทางการแพทย์และเครื่องสำอาง
1. รักษาแผลไฟไหม ในปี ค.ศ. 2009 มีบทความวิจัยตีพิมพ์ การทดสอบในคนไข้แผลไฟไหม้ (skin burns) พบว่าคนไข้ที่ทาครีมผสมน้ำเมือกหอยทาก วันละ 2 ครั้งทุกวัน แผลหายเร็วมากเมื่อเปรียบเทียบกับขี้ผึ้งมีโบ (MEBO) จากประเทศจีนซึ่งไม่มีผลช่วยให้แผลไฟไหมหายอย่างมีนัยสำคัญ
2. เป็นยาชาเฉพาะที่ พบว่าน้ำเมือกหอยทากยังมีคุณสมบัติช่วยให้บาดแผลที่ผิวหนังไม่เจ็บไม่ทรมาน เพราะมีคุณสมบัติเป็นยาชาเฉพาะที่อีกด้วย ซึ่งคุณสมบัตินี้พบได้ในน้ำเมือกของหอยหลายชนิด เช่น หอยทากทะเล (Sea snail)
3. ยาสมานแผล มีการทดลองกับกระต่าย พบว่าน้ำเมือกหอยทากช่วยสมานแผลที่ผิวหนังได้รวดเร็วภายใน ระยะเวลาอันสั้น
4. ยารักษาทางเดินหายใจ แก้คัดจมูก มีงานวิจัยที่พบว่าน้ำเมือกหอยทากช่วยกระตุ้นให้กล้ามเนื้อทางเดินหายใจผ่อนคลาย ทำให้หายใจโล่ง ในประเทศอิตาลี มีการเตรียมเป็นตำรับยาน้ำเชื่อมเพื่อแก้ไอและแก้คัดจมูก
5. บำรุงผิว นักวิทยาศาสตร์ด้านเครื่องสำอาง หลายแห่งได้ทำการทดลองในห้องปฏิบัติการ โดยนักวิทยาศาสตร์แนะนำว่า น้ำเมือกหอยทากสามารถกระตุ้นการสังเคราะห์คอลลาเจนและอีลาสตินในชั้นผิวหนัง และกระตุ้นการสร้างเซลใหม่ให้ผิวหนัง ซึ่งเป็นนัยสำคัญในการบำรุงผิวหนังให้เต่งตึง อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติดังกล่าวในทางการทดลอง ไม่สามารถระบุได้ว่าน้ำเมือกสกัดที่ผสมในครีมบำรุงผิว จะให้ผลได้ดีแค่ไหน ทั้งนี้ผลดีทั้งหมดเกิดจากน้ำเมือกสดเท่านั้น แต่ไม่มีการทดสอบกับครีมหอยทากแต่ประการใด
วิธีทดลองใช้ครีมหอยทาก
แพทย์ผิวหนัง แนะนำว่า ผู้ที่จะทดลองใช้ครีมหอยทาก ควรเป็นผู้ที่ผิวไม่แพ้ง่าย เพราะเป็นสารสกัดที่มีเอนไซม์จากสัตว์ อาจทำให้ผิวแพ้ง่ายบางคนแพ้เป็นผื่นได้ และควรเริ่มต้นทาบริเวณคอในบริเวณเล็กๆ ทิ้งไว้ 15-30 นาที ถ้าไม่มีอาการแดงหรือแพ้ ค่อยทาในบริเวณกว้างต่อไป
บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน มหาวิทยาลัยมหิดล
รูปประกอบ
http://www.chemipan.com/