ความผิดปกติทางจิตประสาทและอารมณ์เกิดได้อย่างไร?
ในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุถึงสาเหตุที่แน่ชัดได้ แต่จากการศึกษา พบว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่สัมพันธ์กับการเกิดโรค ได้แก่ กรรมพันธุ์ ความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ความเครียด ขาดความรักความอบอุ่นจากครอบครัว ปัจจัยทางสังคม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ การใช้ยาลดความอ้วน หรือการใช้สารเสพติด เป็นต้น
ความแตกต่างระหว่างยารักษาสภาวะทางกายกับยาที่ใช้รักษาสภาวะทางจิตประสาทและอารมณ์
ยารักษาสภาวะทางกาย สามารถออกฤทธิ์ในการรักษาได้อย่างรวดเร็ว เช่นยาระงับปวด ออกฤทธิ์ลดอาการปวดได้ หลังจากรับประทานยา 15 -30 นาที และมีช่วงการรับประทานยาภายในระยะเวลาสั้นๆ เมื่ออาการหายดีแล้ว สามารถหยุดรับประทานยาได้
ยาที่ใช้รักษาสภาวะทางจิตประสาทและอารมณ์ จะเริ่มออกฤทธิ์ในการรักษาหลังจากรับประทานยาไปแล้ว 2-4 สัปดาห์ และจำเป็นต้องรับประทานยาต่อเนื่องสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง เพื่อรักษาอาการให้หายขาด ลดความรุนแรง และป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
การรับประทานยาต่อเนื่องสม่ำเสมอสำคัญอย่างไร
สำหรับผู้ที่มีอาการเป็นครั้งแรก ควรได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้ยาสามารถควบคุมอาการให้ดีขึ้นโดยเร็ว หากไม่ได้ยาในการรักษา จะทำให้อาการรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆและควรรับประทานยาต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง ไม่หยุดรับประทานยาเองกะทันหัน เพื่อป้องกันไม่ให้อาการกลับมาเป็นซ้ำ โดยผู้ที่รับประทานยาต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มการรักษา อาจหยุดยาได้ภายใน 2 ปี แต่ถ้ามีอาการกำเริบมากกว่า 2 ครั้ง อาจต้องรับประทานยาไปตลอด เพื่อลดความรุนแรงของอาการ และป้องกันอาการไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ
ประโยชน์ของการรักษาด้วยการรับประทานยา
1. ช่วยปรับสมดุลของสารสื่อประสาทในสมองให้อยู่ในระดับที่ปกติ เพื่อให้สมองทำงานได้อย่างปกติ
2. ช่วยปรับอารมณ์ให้สมดุล ลดความก้าวร้าวรุนแรง
3. ช่วยลดอาการเครียด ซึมเศร้า และคลายวิตก กังวล
4. ช่วยให้นอนหลับได้
5. ลดอาการหวาดระแวง หูแว่ว ประสาทหลอน หลงผิด
อาการข้างเคียงจากยาคืออะไร
เมื่อเริ่มการรักษาด้วยยา หรือปรับขนาดยาเพิ่มขึ้น อาจเกิดอาการข้างเคียงจากยาได้ ซึ่งมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 1 ชั่วโมง แต่มักไม่เกิน 5 วันหลังจากได้รับยา แพทย์มักให้ยารับประทานเพื่อป้องกันอาการ หรือยาฉีดเพื่อแก้ไขอาการดังกล่าว ควรรับประทานยาต่อไปไม่ต้องตกใจ อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นภายในอาทิตย์แรกที่รับประทานยาคือ
● คอเอียง หน้าบิดเบี้ยว ตากระตุก กล้ามเนื้อกระตุก
● กระสับกระส่าย อยู่ไม่เป็นสุข เดินไปเดินมา
● เคลื่อนไหวช้า หน้าตาย มือสั่น ขณะพัก น้ำลายไหล
● ปากแห้ง คอแห้ง ตาพร่ามัว ท้องผูก หัวใจเต้นเร็ว
● ง่วงซึม ความดันต่ำขณะเปลี่ยนท่า
การแก้ไขอาการข้างเคียงทำได้อย่างไร
1. กรณีเกิดอาการคอเอียง หน้าบิดเบี้ยว ตากระตุก กล้ามเนื้อกระตุก ควรมาพบแพทย์เพื่อฉีดยารักษาอาการ
2. อาการปากแห้ง คอแห้ง สามารถแก้ไขได้ โดยการจิบน้ำบ่อยๆอมน้ำแข็งหรืออมลูกอมที่ไม่มีน้ำตาล
3. ตาพร่ามัว หรือตาแห้งมักเกิดขึ้นในช่วงแรกที่เริ่มการรักษา และอาการจะหายไปได้เอง ถ้าตาแห้งมากอาจหยอดน้ำตาเทียม แต่ถ้ายังไม่ดีขึ้นควรแจ้งแพทย์
4. ท้องผูก สามารถแก้ได้โดยการดื่มน้ำมากๆและทานอาหารที่มีกากใย แต่ต้องแยกระหว่างท้องอืดและท้องผูก
5. ความดันต่ำขณะเปลี่ยนท่า มีวิธีแก้ไขคือ ให้ค่อยๆเปลี่ยนอิริยาบถและพักในท่านั้นก่อน อย่าเปลี่ยนท่าอย่างรวดเร็ว
6. เคลื่อนไหวช้า หน้าตาย มือสั่นขณะพัก อยู่ไม่เป็นสุข น้ำลายไหลแก้ไขโดยการรับประทานยาป้องกันอาการ กรณีนอนแล้วน้ำลายไหลให้นอนตะแคง หรือนอนหนุนหมอนที่สูงขึ้น
7. หากหัวใจเต้นเร็ว ต้องสังเกตและจดบันทึกเพื่อแจ้งแพทย์ ควรดูแลตัวเองอย่างไร
- รับประทานยาตรงเวลา เวลาเดียวกันทุกวัน โดยไม่ต้องคำนึงถึงมื้ออาหาร และไม่ลืมรบประทานยา
- รับประทานยาต่อเนื่อง ไปพบแพทย์ตามนัด
- พยายามคลายเครียดด้วยวิธีต่างๆ เช่น ยิ้มบ่อยๆ สร้างอารมณ์ขัน ฟังเพลง อ่านหนังสือธรรมะ
- เมื่อได้ยินเสียงแต่ไม่เห็นคนพูด ให้ตั้งสติ พยายามลืม ไม่สนใจเสียงนั้น ไม่คิดอะไร ทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
- เปิดตนเองให้เข้าสังคม เปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ เช่น เรียนคอร์สเพิ่มเติมพิเศษ
ข้อมูลจาก บทควมเผยแพร่ความรู้สู่ประชน มหาวิทยาลัยมหิดล