นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีการห้ามใช้ยากลูโคซามีน(รักษาโรคข้อเสื่อม)ว่า จะกลับไปพิจารณารายละเอียดอีกครั้ง เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน มีคนเกี่ยวข้องจํานวนมาก ซึ่งหากมีผลกระทบต่อการรักษาพยาบาลของข้าราชการ ก็จะทบทวนรายละเอียดอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังมีหน้าที่แจ้งกระทรวงสาธารณสุขและหัวหน้าส่วนราชการ ในฐานะผู้รักษาพยาบาล ขณะที่ส่วนราชการจะเป็นต้นสังกัดข้าราชการจะได้ออกระเบียบปฏิบัติ ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวจะเริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้
นโยบายการควบคุมค่ารักษาเป็น หนึ่งในยุทธศาสตร์ของรัฐบาลในการควบคุมค่าใช้จ่ายประจํา ไม่ให้เกินร้อยละ 70 ของงบประมาณรายจ่าย ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 72-73 เพราะที่่ผ่านมาค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าระบบสวัสดิการอื่นๆ ทั้ง กองทุนประกันสังคม หรือระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือ 30 บาทรักษาทุกโรค
"การควบคุมรายจ่ายรักษาพยาบาลเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างวินัยทางการคลัง เพราะในอนาคตจะมีการกู้เงินอีกมากเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แต่เราก็มีเป้าหมายจะคุมเพดานหนี้สาธารณะไม่ให้เกินร้อยละ50 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จึงจําเป็นต้องควบคุมรายจ่ายที่สูงเกินจริง แต่ไม่ได้ไปลิดรอนสิทธิ์ของข้าราชการลง เพราะจากผลศึกษาของแพทย์เอง ก็พบว่า หากเทียบเคียงประสิทธิภาพยาที่ผลิตในประเทศกับยานอกแล้วไม่ต่างกัน แต่ราคาแตกต่างกันมาก แต่ก็ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ด้วย ซึ่งหากแพทย์เห็นว่าจําเป็นต้องใช้ยานอก ให้แพทย์ลงความเห็นร่วมกัน 3 คนก็ยังสามารถเบิกยาดังกล่าวได้" นายอารีพงศ์ กล่าว
www.matichon.co.th วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เวลา 20:25:17 น.