หากจะพูดถึงโรคที่มียุงเป็นพาหะ หลายคนคงนึกถึงโรคไข้เลือดออกขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆ แต่ปัจจุบันมีโรคอื่นๆ อีกมากที่เมื่อก่อนแทบไม่เคยได้ยินชื่อ แต่กลับก่อให้เกิดการระบาดในหลายประเทศ ไวรัสซิกา (Zika) ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด ไวรัสที่ใครๆ ต้องถามชื่อซ้ำอีกครั้งชนิดนี้แทบจะไม่เคยมีบทบาทในประเทศไทย แต่กลับเป็นเชื้อที่ทั่วโลกกำลังเฝ้าระวัง ไวรัสชนิดนี้กำลังระบาดอย่างหนักในแถบประเทศอเมริกาใต้ รวมถึงหมู่เกาะแปซิฟิกและ Cape Verde ในแอฟริกา จากรายงานขององค์การอนามัยโรคภูมิภาคอเมริกา (Pan Americans Health Organization; PAHO) พบผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อไข้ซิกาแล้วใน 20 ประเทศ ดังนี้ บาร์เบโดส โบลิเวีย บราซิล โคลอมเบีย เอกวาดอร์ เอลซัลวาดอร์ เฟรนซ์เกียนา กัวเดอลุป กัวเตมาลา กายอานา เฮติ ฮอนดูรัส เกาะมาร์ตีนิก เม็กซิโก ปานามา ปารากวัย เปอร์โตริโก ซูรินาเม เกาะเซนต์มาร์ติน และเวเนซูเอลา
ไวรัสซิกาจัดเป็นไวรัสที่มีรหัสพันธุกรรมเป็นอาร์เอ็นเอ (RNA) สายเดี่ยว อยู่ในตระกูล Flavivirus เช่นเดียวกับไวรัสเดงกี่ (Dengue virus) ที่ก่อให้เกิดไข้เลือดออก และไวรัส Japanese encephalitis ที่ก่อโรคไข้สมองอักเสบ ส่วนชื่อซิกา (Zika) เป็นชื่อป่าในประเทศยูกันดาซึ่งเป็นสถานที่แรกที่แยกเชื้อได้จากลิง Rhesus ที่ทำมาศึกษาในปีพ.ศ. 2490 การระบาดของไวรัสชนิดนี้มียุง Aedes aegypti เป็นพาหะ ซึ่งเป็นยุงลายบ้านในประเทศเขตร้อนและเป็นยุงที่เป็นพาหะของไวรัสไข้เลือดออกด้วย สำหรับประเทศไทยมีรายงานว่าตรวจพบแอนติบอดีต่อไวรัสซิกาในผู้ที่อาศัยในกรุงเทพฯเมื่อปี พ.ศ.2506 หลังจากนั้นมีรายงานผู้ป่วยหญิงนักท่องเที่ยวจากแคนาดา ซึ่งเดินทางมาประเทศไทยในช่วงเวลา 21 มกราคมถึง 2 กุมภาพันธ์ 2556 โดยพักในกรุงเทพฯ และภูเก็ต และมีอาการบนเครื่องบินขณะเดินทางกลับแคนาดา ภายหลังได้รับการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการว่า เป็นการติดเชื้อไวรัสซิกา นอกจากนี้ เมื่อเร็วๆนี้ยังมีรายงานผู้ป่วยชาวไทยที่เดินทางไปไทเป ถูกตรวจพบเชื้อที่สถานีตรวจคัดกรองไข้ สนามบินนานาชาติเถาหยวน ไต้หวัน และขณะนี้ได้รับการรักษาแล้ว อย่างไรก็ตาม ต้องยืนยันว่าโรคไข้ซิกานี้ไม่ใช่โรคใหม่ ในประเทศไทยมีรายงานการตรวจพบผู้ป่วยเฉลี่ยปีละ ๕ ราย และพบกระจายอยู่ทุกภูมิภาค
ผู้ติดเชื้อนี้ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการและหายเองได้ มีเพียง 1 ใน 5 เท่านั้นที่อาจแสดงอาการได้ และมักแสดงอาการภายหลังได้รับเชื้อนี้ 4-7 วัน อาการแสดงทั่วไป ได้แก่ ไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ผื่นแดง เยื่อบุตาอักเสบ ตาแดง ปวดข้อ ซึ่งมักมีอาการเหล่านี้อยู่ประมาณ 2-7 วัน ส่วนใหญ่อาการเหล่านี้จะหายเองได้ภายในหนึ่งสัปดาห์ ไม่มีความจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล แต่ในหญิงตั้งครรภ์จำเป็นต้องดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากการติดเชื้อนี้อาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ทำให้มีความเสี่ยงต่อการพิการแต่กำเนิด มีขนาดศีรษะที่เล็กผิดปกติ (microcephaly) หรือเสียชีวิตได้
การที่อาการแสดงเบื้องต้นของไข้ซิกาถึงแม้จะความรุนแรงน้อยกว่า แต่ก็มีความคล้ายคลึงกับไข้เลือดออก อีกทั้งยังมีสาเหตุจากเชื้อไวรัสในกลุ่มเดียวกัน ทำให้เกิดความสับสนขึ้นได้ จึงต้องมีการให้นิยามเพื่อความชัดเจน โดย
ผู้ป่วยสงสัย หมายถึงผู้ป่วยที่มีไข้และมีอาการอย่างน้อย 2 ใน 3 อาการ ดังนี้ 1) ออกผื่น 2) ปวดข้อ และ 3) ตาแดง และผลการตรวจไวรัสเดงกี ไวรัสชิคุนกุนยาโดยวิธี PCR และไวรัสหัด ไวรัสหัดเยอรมัน โดยวิธี ELISA IgM ให้ผลลบ และ
ผู้ป่วยยืนยัน หมายถึงผู้ป่วยสงสัย และผลตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันพบเชื้อไวรัสซิกาในเลือด หรือตรวจพบภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อไวรัสซิกา
อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนเฉพาะสำหรับป้องกันโรคดังกล่าว จึงมีคำแนะนำให้เลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศกลุ่มเสี่ยง และดูแลจัดการไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายภายในที่พักอาศัย ยุงชนิดนี้เป็นยุงหากินกลางวันจึงต้องระวังการถูกกัด การรักษามักเป็นการรักษาตามอาการ ให้ผู้ป่วยพักผ่อนให้เพียงพอ ลดการสูญเสียน้ำ หากมีไข้ให้ยาพาราเซตามอล และหลีกเลี่ยงยาแอสไพริน รวมถึงใช้ยาบรรเทาอาการปวดหรืออักเสบในกลุ่ม NSAIDs เนื่องจากอาจส่งผลให้เลือดออกในอวัยวะได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ควรพึงระวังการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่นจากการถูกยุงกัดในช่วงที่ติดเชื้อด้วย
โดย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภญ. มัลลิกา ชมนาวัง
ภาควิขาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก :
https://getpoz.files.wordpress.com/2013/04/mosquito.jpg