สรรพากรบี้ภาษี"เช่าพระ-ดาราพิธีกร-รถหรู"โดนทั่วหน้า ลั่นตรวจสอบเชื่อมโยงข้อมูลได้แล้ว
นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากรเปิดเผยถึงมาตรการขยายฐานภาษีว่า ขณะนี้กรมสรรพากรได้หามาตรการต่างๆ เพื่อให้มีการเสียภาษีอย่างถูกต้อง โดยได้รวบรวมข้อมูลของผู้ที่ยังไม่ได้อยู่ในระบบภาษี หรือยังเสียภาษีไม่ถูกต้องไว้หมดแล้ว และทยอยส่งหนังสือแจ้งให้มาทำการเสียภาษีให้ถูกต้อง ซึ่งมีทั้งวงการเช่าพระและวัตถุโบราณรายใหญ่ กลุ่มดารา พิธีกร รวมถึงผู้นำเข้ารถยนต์อิสระ หรือ เกรย์มาร์เก็ต ที่ยังเสียภาษีห่างจากความเป็นจริงมาก และยังมีอีกหลายกลุ่มอาชีพที่กำลังพิจารณา
"ขณะนี้กรมสรรพากรเปลี่ยนวิธีการบริหารด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลภาษีการค้าจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพราะภาษีเข้าคนหนึ่งจะเป็นภาษีออกของอีกคน ก็สามารถเชื่อมโยงข้อมูลได้ นอกจากนี้ รัฐบาลได้เห็นชอบตามที่กรมสรรพากรเสนอให้จัดหาเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลได้มากขึ้นด้วย และจะทำให้ประสิทธิภาพการจัดเก็บเพิ่มขึ้นด้วย"
นายสาธิตกล่าวว่า นอกจากนี้ จะมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อเชื่อมโยงไปสู่บุคคลที่อยู่นอกระบบภาษีอีกด้วย เช่น กำลังทบทวนเกณฑ์การตั้งคณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด หากวัตถุประสงค์ต่างกันก็จะเสียภาษีต่างกันด้วย เพื่อให้การตั้งคณะบุคคลเพื่อเลี่ยงภาษีจะทำได้ยากขึ้น เพราะจะต้องเสียอัตราภาษีที่สูงกว่าบุคคลธรรมดา
นายสาธิตกล่าวว่า กรมยังได้พิจารณารายละเอียดของการใช้สิทธิทางภาษีจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในการลงทุนพลังงานสีเขียว พบว่า ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะเป็นการหักภาษีทั้งจำนวนลงทุนทันที โดยที่ยังไม่ได้ดำเนินการ ทั้งที่เกณฑ์ของสรรพากรให้ทยอยหักตามจริงในสัดส่วนที่ลงทุน ซึ่งคาดว่าจะได้เงินภาษีคืนจากส่วนนี้เป็นหมื่นล้านบาท แต่ขณะเดียวกันการต้องให้สามีภรรยาต้องแยกยื่นภาษีตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งให้เริ่มมีผลทันทีในวันที่ 1 มกราคม 2556 จะทำให้สูญเสียรายได้ไปถึง 4 พันล้านบาทเช่นกัน
นอกจากนั้น ยังมีเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศ เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (เออีซี) ด้วย เพราะต่อไปการซื้อขายระหว่างกันไม่ได้จำกัดเฉพาะในประเทศเท่านั้น ลูกค้ามีสิทธิ์ที่จะซื้อสินค้าจากใคร ที่ไหนก็ได้ เพราะไม่มีอากรระหว่างกัน แต่ต้องดูว่า การตั้งกิจการในต่างประเทศ มาขายในประเทศนั้น จะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต)อย่างไร ซึ่งที่กำลังศึกษาคือ จะให้ผู้ซื้อจากต่างประเทศเป็นคนยื่นแบบ ภ.ง.ด.36 ในการเสียแวต 7% แทน ส่วนการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเอง ก็ต้องขึ้นกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องเปรียบเทียบถึง รายได้ที่จะหายไป การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การกระจายรายได้และความเสมอภาค ซึ่งแต่ละเรื่องมีข้อขัดแย้งกันเอง ดังนั้นจึงต้องมาดูว่า การปรับโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดานั้นจะต้องปรับตรงไหนระหว่าง อัตราภาษี สิทธิลดหย่อนต่างๆ การหักเป็นค่าใช้จ่าย วงเงินที่จะกำหนดในการเสียภาษี หรือการปรับรายการยกเว้นภาษี ซึ่งนายกิตติรัตน์จะหารือในรายละเอียดวันที่ 26 ตุลาคมนี้
ข้อมูลจาก
www.matichon.co.th วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เวลา 12:24:36 น.