คลังออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบสาม แจกเงินข้าราชการ 1.5 หมื่นล้าน กระตุ้นการใช้จ่ายสงกรานต์ เฉลี่ยได้คนละกว่าพันบาท
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบ ซึ่งจะเป็นมาตรการเพื่อกลุ่มคนที่มีความจำเป็นต้องดูแลเพิ่มเติม ส่วนหนึ่งเป็นมาตรการบ้านประชารัฐ ซึ่งนอกจากจะทำให้คนมีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยแล้ว ยังทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจำนวนมาก
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่ามาตรการใหม่ที่จะมีการเสนอคือการแจกเงินช่วยค่าครองชีพให้กับข้าราชการเป็นวงเงินรวม 1.5 หมื่นล้านบาท โดยให้กับข้าราชการระดับล่างและกลางที่ไม่มีเงินประจำตำแหน่ง ซึ่งมีอยู่ 1 ล้านคน จะได้รับเงินเฉลี่ยคนละกว่า 1,000 บาท คาดว่าจะจ่ายเงินได้ช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายในช่วงวันหยุดยาว กระตุ้นการบริโภคทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เพิ่มเหมือนกับการลดภาษีช็อปปิ้งของรัฐบาลในช่วงส่งท้ายปีเก่า 2558
“นี่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งที่ 3 ของทีมเศรษฐกิจนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ โดยครั้งแรกเป็นมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่วงเงิน 1.36 แสนล้านบาท ครั้งที่สองเป็นมาตรการเพิ่มเงินกองทุนหมู่บ้าน 3.5 หมื่นล้านบาท ข้าราชการเป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือเลย” แหล่งข่าวเปิดเผย
ทั้งนี้ คลังยังเสนอมาตรการเติมเงินกองทุนหมู่บ้านรอบใหม่ ให้ ครม.พิจารณา โดยจะนำเงินในส่วนของเงินตำบลละ 5 ล้านบาทซึ่งทำสัญญาไม่ทัน 31 มี.ค.นี้ ประมาณ 5,000 ล้านบาท และเงินลงทุนปีงบประมาณ 2559 ที่ก่อหนี้ไม่ทัน 31 มี.ค.นี้ อีก 5.73 หมื่นล้านบาท บางส่วนไปให้กับกองทุนหมู่บ้านที่มีโครงการพร้อมดำเนินการแล้ว ในส่วนของบ้านประชารัฐจะมีการอัดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ 7 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 ในส่วนของการเติมเงินกองทุนหมู่บ้านละ 5 แสนบาท วงเงินรวม 3.5 หมื่นล้านบาทยังต้องใช้เวลาดำเนินการและจะมีการทยอยเบิกจ่ายไปจนถึงสิ้นปี ทำให้มีเงินไหลเข้าระบบเศรษฐกิจในช่วงได้รับผลกระทบจากภัยแล้งน้อย รัฐบาลจึงออกมาตรการรอบ 3 เพิ่มเติมเงินพยุงเศรษฐกิจ เพื่อให้ยังมีความหวังว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ตามเป้าไม่ต่ำกว่า 3.5%
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า รัฐบาลจำเป็นต้องออกมาตรการเพิ่มเติม เพราะประเมินว่าปัญหาภัยแล้งจะส่งผลกระทบกับประชาชนและเศรษฐกิจอย่างรุนแรงยาวนานไปจนถึงเดือน พ.ค.นี้ และการส่งออกซึ่งมีสัดส่วนมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 60-70% ของจีดีพี ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกอ่อนแอ แม้จะมีการใช้จ่ายภาครัฐเข้ามาช่วยเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนทำได้ดีขึ้น แต่ก็มีสัดส่วนเพียง 10% ของจีดีพีเท่านั้น ทำให้พยุงเศรษฐกิจได้ไม่มาก
ข้อมูลจาก โพสต์ทูเดย์
http://www.posttoday.com/economy/finance/422552