ครม.ไฟเขียวบ้านประชารัฐ!แบงก์รัฐจับมือปล่อยกู้คนมีรายได้น้อยให้มีบ้านเป็นหลังแรกมูลค่าไม่เกิน 1.5 ล้านบาท พร้อมให้กู้ต่อเติมได้ 5 แสนบาท โดยคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ ส่วนเอกชนเข้ามาช่วยรับภาระค่าธรรมเนียมโอน จดจำนอง เชื่อมีคนสนใจเข้าร่วมกว่า 6 หมื่นราย แย้มถ้าไม่พออาจขยายเพิ่มอีก แต่ขอดูความต้องการอีกที
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา เห็นชอบกรอบการดำเนินโครงการบ้านประชารัฐ เพื่อช่วยให้ผู้ที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศ ได้มีบ้านเป็นของตัวเองหลังแรกในราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท และสามารถขอสินเชื่อไปซ่อมแซมหรือต่อเติมบ้านได้ในวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย จะเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อลงไปให้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค.59 เป็นต้นไป จนสิ้นสุดโครงการภายใน 2 ปี คาดว่า จะมีผู้ที่สนใจเข้าร่วมประมาณ 60,000 ราย
สำหรับการดำเนินโครงการดังกล่าว มีวงเงินรวมทั้งโครงการ 70,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ สินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย โดยทั้ง 3 ธนาคารจะร่วมกันการปล่อยสินเชื่อแห่งละ 10,000 ล้านบาท รวม 30,000 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน มีระยะเวลาเงินกู้ไม่เกิน 2 ปี ให้เอกชนผู้ที่ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และการเคหะแห่งชาติ ที่เข้าร่วมโครงการฯ นำกู้เงินไปก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่มีราคาไม่สูงมากให้กับผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้ามาซื้อได้
ส่วนที่ 2 เป็นสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดย ธอส. และธนาคารออมสิน จัดทำโครงการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนแห่งละ 20,000 ล้านบาท รวม 40,000 ล้านบาท มีระยะเวลาเงินกู้ไม่เกิน 30 ปี และผ่อนปรนการกำหนดอัตราส่วนรายจ่ายในการชำระหนี้ต่อรายได้ต่อเดือน หรืออัตราส่วนภาระผ่อนชำระหนี้รวมต่อรายได้สุทธิ แบ่งย่อยออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ปล่อยกู้ให้ผู้มีรายได้น้อยในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนพิเศษสำหรับวงเงินกู้เพื่อซื้อ เช่าซื้อ และก่อสร้างที่อยู่อาศัยไม่เกิน 700,000 บาท และวงเงินสินเชื่อเพื่อซ่อมแซม หรือต่อเติมที่อยู่อาศัยวงเงินไม่เกิน 500,000 บาทต่อหน่วย ส่วนอีกลักษณะเป็นการปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน หากผู้กู้ต้องการในราคามากกว่า 700,000 บาท แต่ไม่เกิน 1.5 ล้านบาทต่อหน่วย
ขณะที่การสนับสนุนของภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการนั้น เอกชนจะเข้ามาช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อยด้วยการรับภาระค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ 2% ของราคาที่อยู่อาศัย และรับภาระค่าธรรมเนียมการจำนอง 1% ของมูลค่าจำนอง เป็นระยะเวลา 2 ปี และรับภาระค่าใช้จ่ายส่วนกลางในปีที่ 1 รวมทั้งให้ส่วนลดพิเศษไม่น้อยกว่า 2% จากราคาขายสุทธิหลังหักส่วนลดปกติด้วย
ทั้งนี้ ในการดำเนินโครงการดังกล่าว ได้กำหนดประเภทที่อยู่อาศัยทุกประเภทที่มีราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาททั่วประเทศ ทั้งที่สร้างบนที่ดินของตนเอง โครงการของเอกชน หรือโครงการที่สร้างบนที่ดินของรัฐ ครอบคลุมที่อยู่อาศัยที่สร้างใหม่ สร้างเสร็จพร้อมอยู่ และสินทรัพย์รอการขายของสถาบันการเงิน และบริษัทบริหารสินทรัพย์ รวมทั้งทรัพย์รอการขายของกรมบังคับคดี และให้รวมไปถึงการซ่อมแซมและต่อเติมด้วย ซึ่งคุณสมบัติของผู้ที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการนั้น เน้นประชาชนที่มีรายได้น้อย ทั้งผู้มีรายได้ประจำ เช่น ข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ และบุคลากรทางการศึกษา และผู้ที่มีรายได้ไม่แน่นอน หรือประกอบอาชีพอิสระที่ไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยของตัวเองมาก่อน
“การดำเนินการครั้งนี้เป็นของภาคเอกชนที่จะเข้ามาร่วมเพื่อช่วยเหลือให้ผู้ที่มีรายได้น้อยได้มีบ้านเป็นของตัวเอง ลดความเหลื่อมล้ำ และยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการอสังหาริมทรัพย์ด้วย ซึ่งรัฐบาลเองไม่ได้เข้าไปช่วยชดเชยดอกเบี้ยอะไรให้กับธนาคาร แต่ทางธนาคารจะรับภาระที่เกิดขึ้นทั้งหมด ซึ่งเป็นการคืนกำไรกลับไปให้กับประชาชน ซึ่งโครงการนี้หากไม่พอก็อาจขยายโครงการต่อแต่ต้องขอดูปริมาณความต้องการก่อนว่าจะมีมากเท่าใด ส่วนการดำเนินโครงการบ้านของกรมธนารักษ์ ตอนนี้ยังอยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียด คาดว่าจะเสนอได้ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้”
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารไม่จำกัดรายได้ผู้กู้ แต่ได้กำหนดสัดส่วนภาระผ่อนชำระหนี้รวมต่อรายได้สุทธิรวมต้องไม่เกิน 50% พร้อมทั้งกำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่เป็นขั้นบันไดในช่วง 6 ปีแรก ระยะเวลาผ่อนสูงสุด 30 ปี โดยกำหนดมีอัตราดอกเบี้ยไว้ 2 วงเงิน คือ
วงเงินกู้ไม่เกิน 700,000 บาท
ปีที่ 1 อัตราดอกเบี้ยคงที่ 0% เงินงวดประมาณ 3,000 บาท
ปีที่ 2-3 ดอกเบี้ยคงที่ 2% เงินงวด 3,000 บาท
ปีที่ 4-6 ดอกเบี้ยคงที่ 5% เงินงวด 4,000 บาท
และปีที่ 7 เป็นต้นไป ดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์ลบ 1.475% เงินงวด 7,200 บาท
วงเงินกู้ 700,000 บาทขึ้นไปจนถึง 1.5 ล้านบาท
ปีที่ 1-3 ดอกเบี้ยคงที่ 3% เงินงวด 7,200 บาท
ปีที่ 4-6 ดอกเบี้ยคงที่ 5% เงินงวด 8,600 บาท
และปีที่ 7 เป็นต้นไป ดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์ลบ 1.475% ถึงเอ็มอาร์อาร์ลบ 1.725% เงินงวด7,900-9,100 บาท
ข้อมูลจาก มติชนออนไลน์
http://www.matichon.co.th/news/79676