รัฐบาลเล็งให้ขรก.เกษียณอายุ 65 ปี รองรับสังคมผู้สูงอายุ สำนักงาน ก.พ.เตรียมเสนอครม.ช่วงเดือนเม.ย. ด้านกระทรวงการคลังชี้สังคมสูงอายุเสี่ยงก่อให้เกิดวิกฤตการคลังระยะ 10-15 ปีข้างหน้า หากไม่เร่งจัดการกรณีปัญหารองรับ
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) ศึกษาเกี่ยวการการเพิ่มอายุราชการเกษียณ 65 ปีเรียบร้อยแล้ว จากเดิมให้กำหนดให้เกษียณ 60 ปี โดยเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)ภายในเดือนเมษายนนี้ เพื่ออนุมัติให้มีการแก้ไขพ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 ในมาตราที่กำหนดอายุเกษียณราชการ โดยจะเสนอเพิ่มอายุการเกษียณราชการเป็น 65 ปี ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่แก้ไขนับจากบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเมื่อปี 2494
แหล่งข่าวกล่าวว่า สาเหตุที่เสนอให้แก้ไขประเด็นดังกล่าว เนื่องจาก เห็นว่าไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ ขณะที่ อัตราการเกิดใหม่ของคนน้อย ทำให้คนในวัยทำงานไม่เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ การขยายอายุการเกษียณราชการเป็น 65 ปี ยังจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายที่จะเกิดต่อระบบงบประมาณในการดูแลบุคลากรทั้งในด้านของอัตราค่าจ้าง ค่ารักษาพยาบาล รวมถึง เงินบำเหน็จบำนาญ
แหล่งข่าว กล่าวว่า ในแต่ละปีจะมีจำนวนข้าราชการที่เกษียณอายุราชการประมาณ 3 หมื่นคน จากจำนวนข้าราชการประมาณ 1.7 ล้านคน ในจำนวนที่เกษียณอายุไปนี้ ส่วนราชการจะต้องรับบุคลากรเข้ามาทดแทน ส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายในด้านเงินเดือนและค่ารักษาพยาบาล ซึ่งในส่วนของค่ารักษาพยาบาลนี้ จะรวมถึง บุคคลในครอบครัวตามกฎหมายด้วย เพราะข้าราชการที่เกษียณอายุ 3 หมื่นคนต่อปีนี้ รัฐยังต้องจ่ายเงินค่าบำเหน็จหรือค่าบำนาญ และ ค่ารักษาพยาบาลจนกว่าจะเสียชีวิต และ เมื่อรับบุคลากรใหม่เข้ามาทดแทน ภาครัฐก็จะมีรายจ่ายเข้ามาเพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อชะลอการรับบุคลากรใหม่ และคงรายจ่ายสำหรับบุคลากร ดังนั้นการต่ออายุราชการอีก 5 ปี น่าจะช่วยแก้ไขเรื่องดังกล่าวได้บ้าง
ด้านนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังกังวลเกี่ยวกับวิกฤตการคลังที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะ 10-15 ปีข้างหน้า โดยปัจจัยที่เข้ามากระทบหลักๆ คือ ภาระการคลังที่จะต้องเข้ามารองรับสังคมผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กระทรวงการคลังพยายามเตรียมแผนไว้รองรับ หนึ่งในนั้น คือ การพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุน เพื่อเป็นแหล่งทุนและแหล่งเงินออมรองรับกรณีดังกล่าว
“ขณะนี้ กระทรวงการคลังพยายามพัฒนาตลาดตราสารหนี้ให้เป็นเสาหลักในระบบเศรษฐกิจไทย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตการเงินในอนาคต อย่างไรก็ดีขณะนี้ พื้นฐานด้านการเงินของประเทศมีความแข็งแกร่ง ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดวิกฤตดังกล่าว แต่สิ่งที่จะก่อให้เกิดวิกฤตในอนาคตหรือระยะ 10-15 ปีข้างหน้า คือ วิกฤตการคลัง ซึ่งถ้าไม่แก้ปัญหาบางอย่าง จากโครงสร้างต่างๆในปัจจุบัน วิกฤตที่เกิดขึ้นจะเป็นวิกฤตการคลัง ไม่ใช่วิกฤตการเงิน เพราะภาระการคลังใหญ่หลวงจะเกิดใน 10-15 ปีข้างหน้า สืบเนื่องจาก ปัญหาสังคมสูงอายุ”นายสมชัย กล่าว
ข้อมูลจาก มติชนออไลน์
http://www.matichon.co.th/news/85875