ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สำรวจความคิดเห็นกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เนื่องในวันแรงงาน 1 พฤษภาคม 2559
เมื่อวันที่ 28 เมษายน นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงผลสำรวจความคิดเห็นสถานภาพแรงงานไทย : กรณีศึกษาผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน สำรวจ 1,212 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 18-24 เมษายนที่ผ่านมา พบว่าสถานภาพทางเศรษฐกิจของแรงงานไทยปี 2559 แย่สุดในรอบ 8 ปี นับจากปี 2552 เนื่องจากแรงงานมีหนี้สูงสุดในรอบ 8 ปี แรงงานมีภาระหนี้ 95.9% มีหนี้ต่อครัวเรือนเฉลี่ย 119,061 บาท แบ่งเป็นนอกระบบ 60.62% ในระบบ 39.38% สะท้อนแรงงานมีปัญหารายได้ ค่าใช้จ่ายมากกว่ารายรับ ทำให้สถานภาพแรงงานซึ่งมีรายได้น้อยกว่า 15,000 บาทต่อเดือนมีปัญหา
นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ปัจจุบันสถานภาพแรงงานไทยที่มีรายได้น้อยกว่า 15,000 บาทต่อเดือน เป็นหนี้อยู่ 95.9% เพียง 4.1% ไม่มีหนี้ โดยกู้เพื่อใช้จ่ายประจำวัน ค่ายานพาหนะ ที่อยู่อาศัย ใช้คืนเงินกู้ ยอดหนี้สินต่อครัวเรือนอยู่ที่ 119,061 บาท มีหนี้นอกระบบ 60.62% ซึ่งต้องผ่อนชำระต่อเดือน 9,657 บาท ดอกเบี้ย 12.5%ต่อเดือน มีหนี้ในระบบ 39.38% ซึ่งต้องชำระต่อเดือน 5,889 บาท ดอกเบี้ย 8.43% ต่อปี ส่งผลให้แรงงานกว่า 95.4% มีปัญหารายได้ไม่พอค่าใช้จ่ายในรอบปีที่ผ่านมา
ข้อมูลจาก มติชนออนไลน์
http://www.matichon.co.th/news/121777